++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สธ.ออกคำแนะนำหวัด 2009 ฉ.6 แนะเฝ้าระวังในสถานศึกษา

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


สธ.ออกประกาศคำ แนะนำหวัด 2009 ฉบับที่ 6 แล้ววันนี้!
โดยให้จับตาการติดเชื้อและแพร่กระจายในสถานศึกษาเป็นหลัก ชี้
ต้องให้ความรู้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา
ให้เข้าใจเพื่อป้องกันตัวเองและไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น
ย้ำให้เข้มตรวจความผิดปกติหากพบนักเรียนขาดเรียน 3 คนขึ้นไป
ให้ชั้นเรียนให้สอบสาเหตุ หากพบเป็นหวัด2009
ต้องรีบแจ้งสาธารณสุขในพื้นที่
พร้อมแนะวิธีการรับมือในสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในสถานศึกษาแบบต่างๆ

กระทรวงสาธารณสุข ออกคำแนะนำกรณีไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ
(เอช1เอ็น1) ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 11 มิ.ย.นี้
โดยระบุว่าปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ
(เอช1เอ็น1) กำลังขยายตัวไปทั่วโลก
และขณะนี้ประเทศไทยพบการระบาดภายในประเทศแล้ว
ซึ่งแม้ว่าผู้ป่วยโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง
ใกล้เคียงกันกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เดิมที่เกิดขึ้นตามปกติ อย่างไรก็ตาม
การแพร่ระบาดจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่
คนทั่วไปไม่มีภูมิต้านทานโรค

โดยสถานศึกษาเป็นแหล่งชุมชนกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด
การระบาด และนำไปสู่การแพร่กระจายเชื้อโรคออกไปสู่ชุมชนได้ ดังนั้น
เพื่อความาปลอดภัยของนักเรียน ครู อาจารย์
และเพื่อป้องกันการระบาดในสถานศึกษา กระทรวงสาธารณสุข
จึงขอให้คำแนะนำสถานศึกษาในการควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ
(เอช1เอ็น1) ดังต่อไปนี้

1.คำแนะนำทั่วไปสำหรับสถานศึกษา :

- เผยแพร่ความรู้เรื่องโรคแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา
เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองติดโรค หรือแพร่โรคไปยังคนรอบข้าง

- แนะนำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา
ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก
ปวดเมื่อยเนื้อตัว เป็นต้น หยุดเรียนและพักรักษาตัวที่บ้านหรือหอพัก
(ควรให้ผู้ป่วยนอนแยกห้อง) หรือหากมีอาการป่วยมาก
ควรรีบไปรับการตรวจรักษาจากแพทย์

- ก่อนเริ่มการเรียนในแต่ละวัน ควรตรวจสอบจำนวนนักเรียน
หากพบเด็กขาดเรียนมากผิดปกติ (ตั้งแต่ 3 คน ในห้องเรียนเดียวกัน)
ขอให้ตรวจสอบสาเหตุ หากสงสัยว่าเด็กขาดเรียนจากอาการของไข้หวัดใหญ่
ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
เพื่อสอบสวนและควบคุมโรคได้ทันการณ์

- สังเกตอาการ เด็กนักเรียนในห้องเรียน
หากพบเด็กป่วยด้วยอาการของไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก
ปวดเมื่อยเนื้อตัว ฯลฯ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่น
ควรให้เด็กป่วยสวมหน้ากากอนามัย
หรือใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปากจมูกทุกครั้งที่ไอจาม
และแยกเด็กป่วยให้อยู่ห้องพยาบาล รวมทั้งติดต่อให้ผู้ปกครองพากลับบ้าน
เพื่อให้การดูแลรักษาเบื้องต้นและพักผ่อนที่บ้าน
แต่หากเด็กมีอาการมากควรต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

- หากมีนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ
จากการศึกษา หรือหาประสบการณ์การทำงานและท่องเที่ยว
ควรแนะนำให้เฝ้าติดตามอาการของตนเองอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 7 วัน โดยในระยะ
3 วันแรกควรพักอยู่ที่บ้านก่อนไปโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษา
หรือเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ
และขอให้สถานศึกษาพิจารณาผ่อนปรนการลงทะเบียนหรือการเข้าเรียนเป็นเวลาอย่าง
น้อย 3 วัน แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา
ซึ่งอาจอยู่ระหว่างการพักเฝ้าติดตามอาการอยู่ที่บ้าน
หรือระหว่างได้รับการดูแลกรณีป่วยหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ

2.คำแนะนำกรณีพิจารณาปิดสถานศึกษา

ในการพิจารณาปิดสถานศึกษาเพื่อการชะลอการแพร่ระบาดของโรค
ควรกำหนดกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีใช้ดุลยพินิจร่วมกันระหว่างผู้บริหารและ
คณะกรรมการสถานศึกษา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
รวมทั้งเครือข่ายผู้ปกครอง โดยพิจารณาข้อมูลทางวิชาการ
ผลการสอบสวนโรคและปัจจัยเกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ

สถานการณ์ ก (A) : พบว่า มีนักเรียน หรือนิสิต นักศึกษา
เป็นผู้ป่วยยืนยันโรคว่าเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น1)
จำนวน 1 ราย หรือกลุ่มเล็ก
ซึ่งทุกคนมีประวัติเดินทางมาจากต่างประเทศที่เป็นพื้นที่การระบาดของโรค
ซึ่งแสดงว่าติดเชื้อจากต่างประเทศ และไม่ใช่การแพร่เชื้อภายในประเทศ

แนวทางการดำเนินการ :

· ไม่จำเป็นต้องปิดสถานศึกษา

· ควรแจ้งผู้ปกครองให้รีบนำผู้ป่วยไปรับการวินิจฉัยโรคและการรักษาจากแพทย์

· หากแพทย์ผู้รักษาอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน
ขอให้หยุดเรียนและอยู่กับบ้านหรือหอพัก เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน
หลังวันเริ่มป่วย เพื่อให้พ้นระยะการแพร่เชื้อ
และกลับเข้าเรียนได้เมื่อหายป่วยแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

สถานการณ์ ข (B) : พบว่า มีนักเรียน หรือนิสิต นักศึกษา
เป็นผู้ป่วยยืนยันว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น1)
จำนวน 1 ราย หรือกลุ่มเล็ก
และไม่มีประวัติเดินทางมาจากต่างประเทศที่เป็นพื้นที่ระบาดของโรค
ซึ่งแสดงว่าติดเชื้อภายในประเทศ
และมีการแพร่เชื้อเกิดขึ้นในชุมชนภายในประเทศ

แนวทางการดำเนินการ :

· ควรพิจารณาปิดสถานศึกษาที่ผู้ป่วยศึกษาอยู่
โดยอาจปิดเฉพาะห้องเรียนที่มีผู้ป่วย ปิดทั้งชั้นเรียน หรือทั้งโรงเรียน
ตามความจำเป็น

· ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ควรปิดเป็นเวลาอย่างน้อย
7 วัน เพื่อให้พ้นระยะการแพร่เชื้อ

· ศูนย์เด็กเล็กและสถานรับเลี้ยงเด็ก
อาจจำเป็นต้องปิดเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน
เพื่อให้พ้นระยะที่เด็กเล็กจะแพร่โรคให้ผู้อื่นได้
ซึ่งมักจะมีระยะเวลานานกว่าผู้ใหญ่

· ระดับอุดมศึกษา ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
เพื่อพิจารณาปิดสถานศึกษาเป็นกรณีไป

· กรณีผู้สัมผัสโรคที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน
มิได้อยู่สถานศึกษาเดียวกันกับผู้ป่วยรายแรก
แต่มีกิจกรรมร่วมกันนานพอสมควร เช่น เป็นเพื่อนร่วมชั้นที่คลุกคลีใกล้ชิด
แข่งกีฬาหรือรับน้องร่วมกัน ฯลฯ ภายใน 7 วัน
นับจากวันสุดท้ายที่ผู้ป่วยมีอาการป่วย

o หากผู้สัมผัสโรครายนั้นมีอาการป่วย
ให้หยุดเรียนไว้ก่อนและรีบไปพบแพทย์ ถ้าผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า
ไม่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ไม่ต้องปิดโรงเรียน

o หากผู้สัมผัสโรครายนั้นมีอาการป่วย
และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
ชนิดเอ (เอช1เอ็น1)
ขอให้พิจารณาปิดโรงเรียนที่ผู้สัมผัสโรครายนี้เรียนอยู่ด้วย
โดยใช้เกณฑ์การปิดสถานศึกษาเช่นเดียวกับข้างต้น

สถานการณ์ ค (C) : พบว่า มีนักเรียนหรือนิสิต นักศึกษา
เป็นผู้ป่วยยืนยันว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด เอ
(เอช1เอ็น1) เป็นกลุ่มใหญ่
และผู้ป่วยไม่มีประวัติเดินทางมาจากต่างประเทศที่เป็นพื้นที่การระบาด
ซึ่งแสดงว่ามีการระบาดอย่างกว้างขวางในสถานศึกษาแล้ว
หรือในชุมชนอาจมีการระบาดด้วยในเวลาเดียวกัน

แนวทางการดำเนินการ :

· แนะนำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา
ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก
ปวดเมื่อยเนื้อตัว เป็นต้น หยุดเรียนและพักรักษาตัวที่บ้านหรือหอพัก
(ควรให้ผู้ป่วยนอนแยกห้อง) หรือหากมีอาการป่วยมาก
ควรรีบไปรับการตรวจรักษาจากแพทย์

· ควรพิจารณาปิดสถานศึกษาที่ผู้ป่วยศึกษาอยู่ เป็นเวลาอย่างน้อย 7
วัน โดยปิดเฉพาะห้องเรียนที่มีผู้ป่วย ปิดทั้งชั้นเรียน หรือทั้งโรงเรียน
ตามความจำเป็น

3.คำแนะนำการทำความสะอาดในสถานศึกษา
เชื้อไวรัสนี้จะอยู่ในเสมหะ น้ำลาย น้ำมูก ของผู้ป่วย
และแพร่ไปยังผู้อื่น โดยผู้ป่วยไอจามรดโดยตรง
หรือรับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ
เช่น ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ ฯลฯ โดยมือที่เปื้อนเชื้อไปขยี้ตา
แคะจมูก หรือใส่เข้าปาก
เชื้อจะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือพื้นผิวได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ดังนั้น
เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ จึงควรทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ
โดยเฉพาะพื้นผิวที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะเรียน ลูกบิดประตู
โทรศัพท์ ราวบันได ฯลฯ โดยการใช้น้ำผงซักฟอกทั่วไปเช็ดทำความสะอาด
อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง
ภายในห้องควรเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง

4.คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย ผู้ปกครอง และผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว
อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เบื่ออาหาร
บางรายอาจมีอาการอาเจียนและท้องเสียร่วมด้วย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะทุเลาขึ้นตามลำดับ คือ ไข้ลดลง ไอน้อยลง
รับประทานอาหารได้มากขึ้น และหายป่วยภายใน 5-7 วัน
ยกเว้นบางรายอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทำให้เกิดปอดบวม มีอาการหอบเหนื่อย
หายใจลำบาก และเสียชีวิตได้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ
หรือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง (เช่น ไข้ไม่สูงมาก
ตัวไม่ร้อนจัด ไม่ซึม และพอรับประทานอาหารได้) สามารถรักษาตัวที่บ้านได้
ผู้ป่วย ผู้ปกครอง และผู้ดูแลผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้

· ผู้ป่วยควรหยุดเรียน และพักอยู่กับบ้านหรือหอพัก
เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วันหลังวันเริ่มป่วย เพื่อให้พ้นระยะการแพร่เชื้อ
และกลับเข้าเรียนได้ เมื่อหายป่วยแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

· แจ้งทางโรงเรียนทราบ
เพื่อจะได้ร่วมเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในสถานศึกษา
และป้องกันควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที

· ให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล
(ห้ามใช้ยาแอสไพริน) และยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก
ตามคำแนะนำของเภสัชกรหรือสถานบริการทางการแพทย์ หรือคำสั่งของแพทย์

· ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ
ยกเว้นพบเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ต้องรับประทานทานยาให้หมดตามที่แพทย์สั่ง

· เช็ดตัวลดไข้ ด้วยน้ำสะอาดที่ไม่เย็น

· ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มากๆ งดดื่มน้ำเย็นจัด

· พยายามรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก
และผลไม้ให้พอเพียง

· นอนพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไป และมีอากาศถ่ายเทสะดวก

· ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นด้วยการสวมหน้ากากอนามัย
ปิดปาก และจมูก เวลาไอหรือ จามด้วยกระดาษทิชชู หรือแขนเสื้อของตนเอง
ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ
หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่อยู่ร่วมบ้านหรือร่วมห้อง
(หากเป็นไปได้ ควรให้ผู้ป่วยนอนแยกห้อง) รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น
หรือใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น
ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ร่วมกับผู้อื่น

· หากอาการป่วยรุนแรงขึ้น เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย อาเจียนมาก
ซึม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

5.คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน

· ควรติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
และคำแนะนำต่างๆ จากกระทรวงสาธารณสุขและสถานศึกษาเป็นระยะ

· แนะนำพฤติกรรมอนามัยให้แก่บุตรหลาน เช่น รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
โดยการออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การป้องกันการติดเชื้อไวรัส
โดยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ
การใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน การรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่

· แนะนำให้เด็กหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่

· หากบุตรหลานของท่านมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ
มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ให้ใช้กระดาษทิชชูปิดปากและจมูก
และทิ้งลงถังขยะ และขอให้แจ้งทางโรงเรียนทราบ
เพื่อจะได้ร่วมเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในสถานศึกษาและป้องกัน
ควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที

· ปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันให้เป็นปกติเท่าที่จะเป็นไปได้
ถึงแม้ว่าจะมีการปิดสถานศึกษาหรือมีการระบาดของโรค

· หมั่นพูดคุยกับบุตรหลาน
ให้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้บ้าง
และตอบคำถามที่เด็กสงสัยเท่าที่เด็กในแต่ละวัยจะเข้าใจได้

· หากเด็กมีความรู้สึกกลัวหรือกังวล
ควรแนะนำให้ระบายความรู้สึกของตนเองออกมา และตอบคำถาม
รวมทั้งปลอบโยนให้คลายกังวล

· เด็กมักจะต้องการความรู้สึกปลอดภัยและความรัก
หากบุตรหลานของท่านมีความกังวล ท่านควรให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ

· ดูแลมิให้บุตรหลานของท่านหมกมุ่นกับข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ของโรคไข้หวัด
ใหญ่สายพันธุ์ใหม่มากเกินไป จนเกิดความกลัวหรือวิตกกังวลจนเกินเหตุ

6.คำแนะนำสำหรับด้านการบริหารจัดการอื่นๆ เมื่อเกิดโรคในสถานศึกษา
· ควรจัดทำแนวทางปฏิบัติ สำหรับครู/อาจารย์ เมื่อมีการระบาดของโรค
เช่น การแนะนำนักเรียนและผู้ปกครอง การติดตามนักเรียนในชั้นเรียนที่ป่วย
เป็นต้น

· ควรจัดระบบการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง/นักเรียน

· มีผู้ประสานงานหลักของโรงเรียน
เพื่อติดต่อประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

7.แหล่งข้อมูลการติดต่อ เพื่อปรึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
1.กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่ กองควบคุมโรค สำนักอนามัย
กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0- 2245-8106, 0-2246-0358 และ 0-2354-1836

2.ต่างจังหวัด ติดต่อได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง

สำหรับ ผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดตามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้
ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th และหากมีข้อสงสัย
สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0-
2590-3333 และศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์
0- 2590-1994 ตลอด 24 ชั่วโมง


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000066052

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น