++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สธ. เผาทำลายยาเสพติดครั้งที่ 37 หนักกว่า 6 ตัน มูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท

from MOPH-ข่าวเพื่อสื่อมวลชน by สำนักสารนิเทศ
กระทรวง สาธารณสุข เผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 37
เป็นปีที่ประเทศไทยเข้าสู่เวทีโลก ในการควบคุมยาเสพติดครบรอบ 100 ปี
น้ำหนักรวมกว่า 6,121 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 9,369 ล้านบาท ยาบ้าสูงสุด
ในปีนี้ทุ่มงบ 635 ล้านบาท จัดบริการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
เพื่อไม่ให้หันกลับไปเสพซ้ำอีก และเปิดอบรม 7
หลักสูตรพัฒนาผู้ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น วันนี้(26
มิถุนายน 2552) เวลา 10.30 น. นายวิทยา แก้วภราดัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่37
ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องในปีนี้เป็นปีที่ประเทศไทยเข้าสู่เวทีโลก
ในการควบคุมยาเสพติดครบรอบ 100 ปี
ยาเสพติดให้โทษของกลางที่เผาทำลายในครั้งนี้ น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 6,121
กิโลกรัม จาก 4,426 คดี รวมมูลค่า 9,369 ล้านบาท ประกอบด้วย
เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า จำนวน 2,737.75 กิโลกรัมหรือประมาณ 30 ล้านเม็ด
มูลค่าประมาณ 9,125 ล้านบาท เฮโรอีน 228.32 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 148
ล้านบาท เอ็กซ์ตาซี่หรือยาอี 10.48 กิโลกรัม หรือประมาณ 41,908 เม็ด
มูลค่าประมาณ 37 ล้านบาท โคเคน 9.23 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 27 ล้านบาท
เคตามีน 3.11 กิโลกรัม ประมาณ 310 ขวด มูลค่าประมาณ 279,790 บาท โคเดอีน
105.59 กิโลกรัม (ประมาณ 81.2 ลิตร) มูลค่าประมาณ 194,942 บาท ฝิ่น 42.29
กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 594,665 บาท และกัญชา/กระท่อม 3.014 กิโลกรัม
มูลค่าประมาณ 30,143 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกัญชาของกลาง
ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดมาร่วมเผา จำนวน 2,980 กิโลกรัม
มูลค่ากว่า 29 ล้านบาท
ขณะนี้ยังมียาเสพติดของกลางเก็บรักษาที่คลังยาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการ
อาหารและยา เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุดอีกประมาณ 17.75 ตัน จาก 122,117
คดี การเผาทำลายยาเสพติดครั้งนี้ ใช้วิธีที่เรียกว่า ไพโรไลติก
อินซินเนอเรชั่น (Pyrelytic Incineration) เป็นการเผาที่อุณหภูมิสูงกว่า
850 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้ยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ทุกชนิดสลายตัว
กลายเป็นผงเถ้าถ่านทั้งหมด ภายในเวลารวดเร็ว ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก
และไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
ยาเสพติดเป็นภัยที่ร้ายแรงที่รัฐบาลไทยมุ่งเร่งแก้ไข ขจัดให้หมดไป
ซึ่งทุกครอบครัวไม่ต้องการให้บุตรหลานติดยาเสพติด
เนื่องจากยาเสพติดมีแต่ผลเสียต่อร่างกาย ทำลายอวัยวะต่างๆในร่างกาย
โดยเฉพาะสมอง สติปัญญา ไม่สามารถฟื้นฟูกลับสู่ปกติได้ 100 เปอร์เซ็นต์
และเมื่อผู้ติดยาเสพติดมีความต้องการยา มักจะทำร้ายทั้งพ่อแม่พี่น้อง
คนรอบข้าง จึงต้องร่วมมือกันขจัดยาเสพติดให้หมดไปจากแผ่นดิน
ในส่วนของระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพสารเสพติด ไม่ให้กลับไปเสพซ้ำอีก
กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เปิดคลินิกบำบัดฟื้นฟูผู้เสพสารเสพติดทุกชนิด
เพื่อให้ผู้เสพได้รับบริการใกล้บ้านที่สุด โดยมีสถานบำบัดทั้งหมด 5,628
แห่ง ในปีงบประมาณ 2552
ได้จัดงบประมาณบำบัดฟื้นฟูผู้เสพสารเสพติดของประเทศ
จัดอบรมพัฒนาบุคลากรเพื่อดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด 7 หลักสูตร ได้แก่ 1.
การดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีภาวะแทรกซ้อนทางจิต 2.
หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ใช้ยาและสารเสพติด 3.
หลักสูตรการบริการด้านการป้องกัน
การดูแลเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและการลดอันตรายในผู้ใช้ยาเสพติด 4.
หลักสูตรการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในวัด 5.
หลักสูตรเวชศาสตร์ยาเสพติดสำหรับแพทย์ 6.
หลักสูตรการสร้างแรงจูงใจและฟื้นฟูกระบวนการคิดในผู้ติดสุรา และ7.
หลักสูตรระบบการติดตามด้านยาเสพติดระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มความรู้
ความสามารถของผู้ที่ดูแลผู้ติดยาเสพติด
ให้สามารถดูแลผู้ติดยาเสพติดได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 - มีนาคม 2552
ได้ให้การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแล้ว 29,190 ราย
มีอาชีพรับจ้างมากที่สุด รองลงมาคือว่างงานและเกษตรกร
นอกจากนี้สถาบันธัญญารักษ์ ยังได้เปิดสายด่วน 1165
บริการปรึกษาปัญหาประชาชนเกี่ยวกับยาเสพติด มีทั้งระบบอัตโนมัติ
และระบบบริการสายสดกับเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ในปีที่ผ่านมา
มีผู้ใช้บริการสายอัตโนมัติเฉลี่ยวันละ 756 ครั้ง
และใช้บริการสายสดกับเจ้าหน้าที่ จำนวน 4,662 ราย
ประเด็นปรึกษาส่วนใหญ่ถามเรื่องสถานบำบัดฟื้นฟูที่อยู่ใกล้บ้าน
ยาเสพติดที่ผู้รับบริการขอรับคำปรึกษามากที่สุดคือยาบ้าร้อยละ 49
รองลงมาคือสุราร้อยละ 18 โดยใช้เวลาปรึกษาเฉลี่ยรายละ 3 นาที ทั้งนี้ในปี
2551 มีผู้เสพสารเสพติดทุกประเภทเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูทั้งหมด 86,477 ราย
เป็นเพศชายร้อยละ 90 โดยติดยาบ้ามากที่สุดร้อยละ 81 รองลงมาคือ
กัญชาร้อยละ 8 และสารระเหยร้อยละ 4 ส่วนใหญ่เป็น ผู้เสพร้อยละ 60
และมีผู้ ที่เสพติดขั้นรุนแรงจำนวน 1,868 ราย
ผู้เสพมีอาชีพรับจ้างมากที่สุด รองลงมาคือว่างงานและเป็นนักเรียน
โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 8-24 ปีร้อยละ 40 รองลงมาคืออายุ 25-29
ปีร้อยละ 23 ******************************* 26 มิถุนายน 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น