++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สัญญาใหม่ช่อง 3 รัฐต้อง "คุ้มค่าทุกนาที"!

โดย สุวิชชา เพียราษฎร์


ความที่ อสมท ให้สัมปทานการบริหารทีวีช่อง 3
แก่ตระกูลมาลีนนท์มาช้านานจึงไม่แปลกที่คนทั่วไปจะคิดว่า ช่อง 3 อสมท คือ
สมบัติของตระกูลมาลีนนท์

แต่...พลันที่มีข่าวว่า
การขอต่อสัญญาซึ่งเดิมจะหมดอายุลงในปีหน้าออกไปอีก 10
ปีหรือไปหมดอายุในปี 2563 ระหว่าง อสมท กับบริษัท
บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ของตระกูลมาลีนนท์ส่อเค้ามีปัญหา
เรื่องที่ว่าง่าย สมบัติที่ว่าเป็นของตายของตระกูลมาลีนนท์
ก็อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป

ข่าวเปิดเผยว่า มีสองประเด็นที่เป็นปัญหาให้คณะกรรมการ อสมท
ต้องคิดและตรวจสอบให้รอบคอบ ก่อนจะอนุมัติสัญญาใหม่นี้ คือ หนึ่ง
เงื่อนไขผลตอบแทนที่บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์เสนอมา และ สอง
สัญญาใหม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯหรือไม่

ข้อแรก หากลองย้อนมองอดีตตั้งแต่ อสมท
ตกลงทำสัญญากับตระกูลมาลีนนท์ จะเห็นว่า หลายปีผ่านมา อสมท
ได้รับผลตอบแทนตามสัญญาแต่ละปีถือว่าไม่มากนัก
แถมบางช่วงของสัญญาก็ยังมีแก้ไขสาระสำคัญให้มีการเปลี่ยนแปลงสูตรค่าตอบแทน
ที่เอื้อประโยชน์แก่บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์อีกต่างหาก

ดังนั้น ที่เป็นปัญหาขึ้นก็อาจเป็นไปได้อย่างสูงว่า
สัญญาใหม่บอร์ด อสมท
พิจารณาแล้วเห็นว่าผลตอบแทนของตระกูลมาลีนนท์เสนอให้แก่ อสมท
ไม่สมน้ำสมเนื้อเท่าที่ควร

กรณีนี้คิดต่อได้ไม่ยาก ไม่ต้องเป็นบอร์ด อสมท
คนนอกแม้ไม่ได้คลุกคลีอยู่ในวงการโทรทัศน์ก็พอทราบว่า เวลา
หรือโฆษณาของธุรกิจฟรีทีวีนั้นเป็นเงินเป็นทองแค่ไหน
รายได้แต่ละปีของบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ที่จะได้จากช่อง 3
มากมายมหาศาลเพียงใด ผมเดาว่า บอร์ด อสมท
คงขอปรับค่าสัมปทานหรือผลตอบแทนให้สูงขึ้น ขณะที่
คู่สัญญาอย่างบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ขอต่อรอง

แม้จะยังไม่มีใครทราบตัวเลขที่แท้จริงว่า 10
ปีจากนี้ไปบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์เสนอให้กับ อสมท
เป็นมูลค่ารวมเท่าไหร่
ต่อปีเฉลี่ยแล้วกี่มากน้อยซึ่งตกลงกันไม่ได้ก็แปลว่า
ตระกูลมาลีนนท์ยังคิดพร้อมเสนอเงื่อนไขมาแบบคิดว่าช่อง 3
เป็นสมบัติผูกขาดของตระกูลเหมือนเดิม

หากเป็นเช่นนี้ พอจะบอกได้เลยว่า คงเป็นเรื่องยากที่สัญญาใหม่จะราบรื่น

นั่นเพราะต้องไม่ลืมว่า สถานะบัดนี้ไม่ใช่ อสมท
ตัวเปล่าเล่าเปลือย ไม่ได้ตกอยู่ในอิทธิพลการเมือง
หรือนักการเมืองชี้นำได้ง่ายเหมือนแดนสนธยาในอดีต

อสมท ปัจจุบัน คือ บริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
การอนุมัติสัญญาที่อาจก่อให้เกิดข้อสงสัย ข้อครหาใดๆ บอร์ด อสมท
ก็ต้องมีคำตอบและรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ตลอดกฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล
การตรวจสอบที่บีบบังคับ ตามกฎเกณฑ์ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทั่วไปดักรออยู่

ตรงจุดนี้ คนตระกูลมาลีนนท์ย่อมทราบดี เพราะบริษัท บีอีซีเ วิลด์
ที่มีตระกูลมาลีนนท์ถือหุ้นมากถึงกว่า 60%
ก็เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นกัน

...และตระกูลมาลีนนท์ก็คงทราบดีต่อไปเช่นกันว่า กลุ่มบีอีซี
เวิลด์ ที่เติบใหญ่มาได้ทุกวันนี้เพราะมีจุดเริ่มต้นทำมาหากินอยู่กับช่อง
3!

กลุ่มบีอีซี เวิลด์ จัดตั้งขึ้นในระหว่างปี 2538
โดยการรวมเอาบริษัทของ "มาลีนนท์"
ที่ดำเนินกิจการเกี่ยวข้องกับธุรกิจดำเนินการออกอากาศและสื่อโฆษณา และ
ธุรกิจการจัดหาและผลิตรายการโทรทัศน์เข้าด้วยกัน

ตามข้อมูลพื้นฐานที่มีรายงานไว้ในเว็บไซต์ของบีอีซี เวิลด์ระบุว่า
ณ มีนาคม 2548 กลุ่มบีอีซี เวิลด์ ประกอบด้วยบริษัททั้งหมดรวม 27 บริษัท
ได้แก่ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน), บริษัทย่อย 22 บริษัท,
บริษัทร่วม 4 บริษัท (ไม่รวมบริษัทย่อยของบริษัทร่วม) โดยมีบริษัท บีอีซี
เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทใหญ่

ลองหลับตานึกภาพระหว่างที่การเจรจาสัญญาใหม่ของตระกูลมาลีนนท์ยังไม่
ยุติ หากมีคนเสนอให้บอร์ด อสมท เหลือบมองรายได้ที่กลุ่มบีอีซี
เวิลด์ได้จากช่อง 3
จนแผ่กิ่งก้านสาขาแตกหน่อจนกลายเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ดังกล่าวมาเทียบเคียงกับ
รายได้ที่แบ่งให้ อสมท แล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

แค่บอร์ดซักคนถามว่า
ตระกูลมาลีนนท์ใช้เกณฑ์อะไรในการเสนอผลตอบแทนให้ อสมท
ทำไมไม่ใช้เกณฑ์การรับรู้รายได้ที่บีอีซี
เวิลด์เสนอขายหุ้นให้กับประชาชน(เมื่อปี 2539) หรือรายได้ ณ
ปัจจุบันของบีอีซี เวิลด์เป็นฐาน
แค่นี้ก็พอแล้วที่จะทำให้คนของตระกลูมาลีนนท์สะอึก ฉุกคิดบ้าง!

ส่วนข้อ 2 สัญญาใหม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน ขณะนี้เท่าที่ทราบ
บอร์ด อสมท มีความชัดเจนยืนกรานว่า ยังไงก็ตาม
สัญญาที่จะดำเนินต่อไปอยู่ในข่ายต้องทำตามกฎหมาย
ขั้นตอนต่อไปคือตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณา
ขณะที่บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ก็ต่อรองอีกว่า ไม่ได้อยู่ในข่าย
พร้อมกับหากมีปัญหามากนักก็จะยื่นขอใบอนุญาตกับ กทช.

บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ อาจมีเหตุผลที่จะบอกได้ว่า
ตัวเองดำเนินงานธุรกิจบริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์เป็นเจ้าของเวลาออกอากาศทั้ง
หมด มีประสบการณ์มานานจึงไม่น่ามีปัญหาอะไร ทว่า
เป็นที่ทราบกันดีตั้งแต่มี กทช.มาจนวันนี้ก็ยังหวังอะไรไม่ได้นี่ละปัญหา

เรื่องนี้คาดว่าน่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยให้ถกเถียงกันอีกพอสมควรจน
กว่าจะมีบทสรุปที่ชัดเจน แต่ไม่ว่าจะจบอย่างไร ผมหวังว่า อสมท นี่ก็คือ
รัฐต้องไม่เสียเปรียบ

ติดตาม กันให้ดีครับว่า สุดท้ายบอร์ด อสมท
จะทำให้สัญญาใหม่รัฐได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าทุกนาทีได้หรือไม่
หรือจะเป็นตระกูลมาลีนนท์ที่ยังได้ประโยชน์ "คุ้มค่าทุกนาที"
จากสถานีทีวีสีช่อง 3 เหมือนที่ผ่านๆ มา.

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000067594

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น