++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552

บีโอไอ:โครงการรถเมล์ 4,000 คัน กับความท้าทายของอุตสาหกรรมผลิตรถบัสของไทย

โดย ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์


กรณีที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
จะทำการเปิดประมูลจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใหม่ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัด
(CNG) หรือที่นิยมเรียกในไทยว่า NGV เป็นเชื้อเพลิง
เพื่อทดแทนรถเมล์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง จำนวน 4,000 คัน
นับเป็นโครงการจัดซื้อขนาดใหญ่และเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของอุตสาหกรรม
ผลิตรถบัสของประเทศไทย

อุตสาหกรรมผลิตรถบัสของไทยได้เริ่มต้นอย่างจริงจังภายหลังสงครามโลก
ครั้งที่ 2 ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายทหารญี่ปุ่นและใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการก่อสร้างทาง
รถไฟสายมรณะ

เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามเมื่อปี 2488
ได้ทิ้งซากโครงรถไว้เป็นจำนวนมาก
ชาวบ้านโป่งจึงนำทักษะฝีมือที่ได้รับจากการก่อสร้างทางรถไฟ
โดยการนำเศษเหล็กมาประกอบเป็นตัวถังรถบัส
จนพัฒนากลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ปีละเกือบหมื่นล้านบาท
ทำให้บ้านโป่งกลายเป็นแหล่งประกอบตัวถังรถบัสที่ใหญ่สุดของประเทศไทย
นับจากนั้นจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตรถบัสของไทยมีปริมาณการผลิตประมาณปีละ
4,000 - 5,000 คัน นอกจากในอำเภอบ้านโป่งแล้ว
ยังมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมผลิตรถบัสที่จังหวัดนครราชสีมาด้วย
โดยเป็นที่ตั้งของบริษัทเชิดชัยอุตสาหกรรม
ซึ่งนับเป็นผู้ต่อตัวถังรถบัสรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยมีกำลังการผลิตรถบัส 1,200 - 1,500 คัน/ปี และมีพนักงาน 3,000 คน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมต่อรถบัสของไทย
ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากรถบัสของประเทศจีน ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วมาก
ทำให้จีนกลายเป็นฐานผลิตรถบัสใหญ่ที่สุดของโลก
โดยมีปริมาณการผลิตมากกว่าปีละ100,000 คัน
โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 20 ของทั้งหมด หรือประมาณปีละ 20,000
คัน

ยิ่งไปกว่านั้น การผลิตรถบัสของจีนก้าวหน้ากว่าไทยมาก
เนื่องจากเป็นการผลิตจำนวนมากลักษณะ Mass Production
จึงสามารถผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่เครื่องยนต์ แชสซี ตลอดจนถึงตัวถัง
นับว่าแตกต่างจากกรณีของประเทศไทย
เป็นการนำเครื่องยนต์และแชสซีจากต่างประเทศเข้ามาต่อตัวถังภายในประเทศเท่า
นั้น

สำหรับคลัสเตอร์ใหญ่ที่สุดในการผลิตรถบัสในจีน คือ
นครเซี๊ยะเหมินในมณฑลฝูเจี้ยน มีปริมาณการผลิตปีละประมาณ 30,000 คัน
โดยเป็นฐานการผลิตของบริษัท Golden Dragon และบริษัท King Long
ที่ผู้ผลิตรายใหญ่ 2 ราย คือ บริษัท King Long และ Golden Dragon
มีปริมาณการผลิตมากถึงปีละ 30,000 คัน
โดยเทศบาลเมืองแห่งนี้ตั้งเป้าหมายผลิตเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 40,000
คัน/ปี ภายในปี 2553

สำหรับผู้ผลิตรถบัสของจีนมีผู้ผลิตรายใหญ่หลายบริษัท
ซึ่งต่างก็พยายามที่จะเจาะตลาดของประเทศไทย

บริษัทแรก คือ บริษัท King Long จำหน่ายโดยใช้แบรนด์ Higer
โดยในปี 2551 มียอดจำหน่ายรถบัสประมาณ 28,000 ล้านบาท และส่งออกเป็นเงิน
7,000 ล้านบาท นอกจากผลิตจำหน่ายโดยใช้แบรนด์จีนแล้ว
บริษัทแห่งนี้ยังได้ร่วมลงทุนกับบริษัทต่างชาติในการผลิตรถบัสโดยใช้แบรนด์
ร่วมกับต่างชาติด้วย เป็นต้นว่า การร่วมลงทุนกับบริษัท Scania ของสวีเดน
เพื่อจำหน่ายในแบรนด์ร่วม คือ SCANIA-Higer
เพื่อให้สามารถเจาะตลาดรถบัสราคาแพงในต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น
บริษัทแห่งนี้ยังได้รุกเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถบัสในประเทศไทยในรูปการร่วมลง
ทุน โดยบริษัท King Long United Automotive Industry (Suzhou)
ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถโดยสารขนาดใหญ่ของจีน ได้ร่วมมือกับบริษัทไดสตาร์
อิเลคทริก คอร์เปอเรชั่น ของไทย ในการผลิตรถบัสยี่ห้อ Higer ในประเทศไทย
นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา

บริษัทที่สอง คือ บริษัท Golden Dragon ซึ่งนอกจากผลิตรถบัสแล้ว
ยังร่วมมือกับบริษัทโตโยต้าเพื่อผลิตรถตู้มาตั้งแต่ปี 2538 นอกจากนี้
ยังผลิตรถบัสขนาดเล็กด้วย โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตรถบัสจำนวน 15,000
คัน/ปี

บริษัท Golden Dragon ได้รุกหนักในการเจาะตลาดส่งออกมากถึง 40
ประเทศ ครอบคลุมถึงภูมิภาคต่างๆ เช่น รัสเซีย ยุโรปตะวันออก
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และละตินอเมริกา โดยในปี 2550
ได้ส่งออกไปต่างประเทศมากถึง 10,000 คัน
โดยรถบัสยี่ห้อนี้นับว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในประเทศไทย
โดยจะเห็นรถเมล์สีเหลืองยี่ห้อนี้แล่นอยู่เป็นจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร

บริษัทที่สาม บริษัท Yutong ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่มณฑลเหอหนาน
เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อีกแห่งของจีน
โดยมีจุดเด่นในด้านรถบัสขนาดใหญ่เป็นการเฉพาะ
ขณะที่รถบัสขนาดเล็กไม่เด่นมากนัก โดยในปี 2550
ผลิตและจำหน่ายรถบัสมากถึง 25,522 คัน โดยในจำนวนนี้มีมากถึง 3,319 คัน
ที่เป็นการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น อิหร่าน รัสเซีย ฟิลิปปินส์
อุรุกวัย ฮ่องกง ฯลฯ

อนึ่ง บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน)
มีข่าวว่าจะร่วมลงทุนกับบริษัท Yutong
ในรูปแบบของการนำเข้ารถบัสเข้ามาจำหน่ายและให้บริการแบบครบวงจร
ส่วนอนาคตจะประกอบและตั้งโรงงานผลิตขึ้นในประเทศ
ใช้เป็นฐานสำหรับตลาดในภูมิภาคอาเซียนโดยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ข้อตกลงเขต
การค้าเสรีอาเซียนด้วย

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นต้นว่า บริษัท
Jinhua ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ของจีนร่วมลงทุนกับบริษัท Neoplan
ในเครือบริษัท Man ของเยอรมนี ก่อตั้งบริษัท Jinhua-Neoplan
ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ใกล้กับเมืองหังโจว
และได้เริ่มผลิตรถบัสทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก
โดยปัจจุบันได้เริ่มส่งออกไปยังเกาหลีใต้แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น การผลิตรถบัสของจีน
ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
จากเดิมที่เป็นการผลิตลอกเลียนแบบรถบัสของต่างชาติ
ได้พัฒนาเป็นนวัตกรรมของตนเองทั้งในด้านรูปลักษณ์และเทคโนโลยี
หากเรานั่งรถเมล์ของจีนที่วิ่งในประเทศไทย
จะเห็นว่ามีนวัตกรรมมากมายที่แตกต่างจากรถเมล์ที่ผลิตในประเทศไทย
ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นนวัตกรรมที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสูงมากนัก
แต่ได้สร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

ประการแรก พื้นของรถบัสที่ต่ำกว่า ทำให้สะดวกสำหรับเด็ก สตรี
และผู้สูงอายุ ในการขึ้นลงรถเมล์

ประการที่สอง มีป้ายที่เป็นหลอดไฟ LED
ทั้งภายนอกรถบัสสำหรับบอกชื่อสาย
และภายในรถบัสที่บอกถึงวันที่และอุณหภูมิ แต่มีข้อเสียอยู่บ้างที่อักษร
LED ในรถบัสยังเป็นภาษาจีน ไม่สามารถแสดงเป็นอักษรไทยได้
ทำให้ไม่สามารถแสดงข้อความอื่นๆ ได้

ประการที่สาม ออกแบบสำหรับใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (CNG)
เป็นการเฉพาะ ทำให้สามารถออกแบบให้มีถังก๊าซขนาดใหญ่กว่ารถบัสดัดแปลง
ส่งผลทำให้แล่นได้ระยะทางไกลกว่า ไม่ต้องเต็มก๊าซบ่อยครั้ง

ประการที่สี่ กล้องวงจรปิดแสดงผลผ่านหน้าจอบนแผงหน้าปัดพวงมาลัยรถ
เพื่อให้พนักงานขับรถสามารถตรวจสอบความเรียบร้อยในช่วงการขึ้นลงของผู้
โดยสารและในขณะถอยหลังพร้อมสัญญาณเตือนการถอย

นอกจากนั้น
การผลิตรถบัสของบริษัทชั้นนำของจีนยังมีการทดสอบการชนในรูปแบบต่างๆ
เพื่อให้มั่นใจว่าผู้โดยสารจะมีความปลอดภัยมากที่สุด
คล้ายคลึงกับการทดสอบการชนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล
ทำให้สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศตะวันตกได้

ความสำเร็จของรถบัสจีน
ทำให้ปัจจุบันจีนสามารถแย่งตลาดไปได้ทั่วโลก เป็นต้นว่า
การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ที่ประเทศกาตาร์ มีการสั่งซื้อรถบัสยี่ห้อ
Higer เพื่อใช้ในการบริการขนส่งสำหรับการแข่งขันกีฬาครั้งนี้

ขณะเดียวกันการรุกหนักของบริษัทผลิตรถบัสของจีน
ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อรถบัสของประเทศต่างๆ มากพอสมควร เป็นต้นว่า
กรณีของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเมื่อปี 2551
ผู้ผลิตรถบัสภายในประเทศผลิตจำหน่วยได้ 1,200 คัน
ขณะที่นำเข้าจากจีนเพื่อจำหน่ายในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2551
มียอดจำหน่ายรถบัสของจีนมากถึง 500 คัน
ทำให้ผู้ประกอบการต่อรถบัสของฟิลิปปินส์ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล
โดยให้เหตุผลว่าเป็นอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น
โดยการผลิตรถบัสแต่ละคันจะต้องใช้แรงงานมากถึง 2,000 คน/ชั่วโมง

สำหรับกรณีของประเทศไทยก็เช่นกัน
ผู้ประกอบการได้เสนอความเห็นต่อรัฐบาลว่าการดำเนินการโครงการรถเมล์ 4,000
คันนั้น หากเป็นการนำเข้ารถบัสสำเร็จรูปทั้งสิ้น
ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าจากประเทศจีน
จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ
จึงได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมขอให้ส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อตัวถังรถ
โดยสารภายในประเทศ รวมถึงโรงงานผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศ ทั้ง กระจก
เก้าอี้ ยาง สายไฟ แผ่นเหล็กแปรรูปและอื่นๆ
ที่ใช้เป็นอุปกรณ์ในการต่อตัวถังรถบัส

ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการเสนอว่าควรนำเข้ารถบัสในรูปกึ่งสำเร็จรูป
แล้วนำมาต่อตัวถังเองภายในประเทศ
ซึ่งเป็นโอกาสที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการต่อตัวถังรถของไทย
ก่อให้เกิดการจ้างงาน และพัฒนาคุณภาพการต่อตัวถังรถไปพร้อมๆ กัน
ยิ่งไปกว่านั้น หากเปรียบเทียบราคานำเข้ารถบัสสำเร็จรูปทั้งคันกับการนำเข้ากึ่งสำเร็จรูปมา
ต่อตัวถังเอง ราคาก็ไม่ต่างกันมากนัก

สำหรับ ในอนาคต
มีประเด็นสำคัญว่าอุตสาหกรรมรถบัสของไทยจะมีทิศทางอย่างไร
จะสามารถแข่งขันกับรถบัสนำเข้าได้หรือไม่
เนื่องจากการแข่งขันมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีกจากการเปิดเสรีทาง
การค้า จะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างไรเพื่อให้แข่งขันกับผู้ผลิตรถบัสยักษ์ใหญ่
ของโลกจากประเทศจีนได้

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000066988

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น