++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

4 องค์กรผนึกยกเครื่องครั้งใหญ่บริการปฐมภูมิตั้ง "สำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน"

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


4 องค์กรผนึกยกเครื่องครั้งใหญ่บริการปฐมภูมิ
เปลี่ยนสถานีอนามัย/ศูนย์แพทย์ชุมชนให้เป็นโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล
ตั้ง "สำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน" แห่งแรกในมหาวิทยาลัยมหิดล
หวังยกระดับการบริการสุขภาพให้คนไทยทั่วประเทศ
เน้นอยู่บ้านก็มีคนมาดูแลตั้งเป้าปีแรก 1,000 ฝันเพิ่มอีก 9,000 แห่งในปี
2553-2556

วันที่ 5 มิถุนายน ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นพ.อำนวย กาจีนะ
ที่ปรึกษาระดับกระทรวงด้านเวชกรรมป้องกัน กระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิก
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล นพ.วินัย สวัสดิวร
เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ร่วมลงนามในการจัดตั้ง
"สำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน" ขึ้น เพื่อ
เป็นกลไกในการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ
และสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพประจำตำบล
(รสต.) เพื่อยกระดับบริการสุขภาพของคนไทย

นพ.อำนวย กล่าวว่า โรง พยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล (รสต.)
เป็นการยกระดับศักยภาพของสถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชน
ซึ่งเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขปฐมภูมิในระดับตำบล
โดยมุ่งให้มีการทำงานเชิงรุก มีบริการที่ต่อเนื่อง
มีความเชื่อมโยงอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
และส่งเสริมการใช้บ้านเป็นเรือนผู้ป่วย (home ward) ทั้งนี้
รสต.จะแบ่งเป็น 3 ระดับตามขนาดประชากรที่ดูแล คือ 1) รสต.ขนาดเล็ก
รับผิดชอบประชากรไม่เกิน 3,000 คน มีบุคลากร 5-6 คน 2) รสต.ขนาดกลาง
รับผิดชอบประชากร 3,000-6,000 คน มีบุคลากร 6-8 คน 3) รสต. ขนาดใหญ่
รับผิดชอบประชากร 6,000 คนขึ้นไป มีบุคลากร 8-10 คน โดยตั้งเป้าหมายปี 52
ไว้ที่ 1,000 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 9,000 แห่งในปี 2553-2556

ทั้ง นี้ จะมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริการ ได้แก่
ปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพ และสภาพแวดล้อม
โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมชุมชนหรือวัฒนธรรมท้องถิ่น
โดยกระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนด้านวิชาการ การจัดการ
และทรัพยากรบุคคล ได้แก่
ทีมนักวิชาการปฏิบัติงานวิชาการเต็มเวลาและบางเวลา
สนับสนุนการประสานงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการวิจัย
และการพัฒนาในด้านสุขภาพชุมชน

นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขในปี
พ.ศ.2549 พบว่า สถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชน
ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิระดับตำบล จำนวน 9,810 แห่ง
มีบุคลากรเฉลี่ยแห่งละ 2.9 คน ในจำนวนนี้เพียงหนึ่งในสามหรือ 2,968 แห่ง
ที่มีพยาบาลวิชาชีพประจำ
ขณะที่สถานีอนามัยจำนวนมากต้องดูแลประชากรมากกว่า 5 พันคน
และประมาณร้อยละ 17 ต้องดูแลประชากรกว่าหมื่นคน
ในขณะที่ระบบยังผลิตกำลังคนได้ไม่เพียงพอและมีปัญหาในการจ้างงาน
ปัญหาและข้อจำกัดทั้งหมดนี้นำไปสู่การมีนโยบายพัฒนาและยกฐานะสถานีอนามัย
ขึ้นเป็น "โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล"
ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนนั้น
เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก
และถึงเวลาที่จะขับเคลื่อนอย่างจริงจังด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย
มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะที่เป็นแหล่งผลิต "ปัญญาของแผ่นดิน"
และมีปรัชญาที่ว่า
"ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่
มวลมนุษยชาติ" จึงพร้อมและมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมมือเพื่อการพัฒนาโรงพยาบาลสร้าง
เสริมสุขภาพประจำตำบล ในรูปแบบต่าง ๆ
เพื่อสนับสนุนกระบวนการพัฒนาสุขภาพของประชาชน และขององค์กรชุมชน
ซึ่งจะจัดให้มี "สำนักวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน"
ซึ่งบริหารจัดการโดยสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน
ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข
เพื่อให้เป็นกลไกที่ต่อเนื่องในการสร้างองค์ความรู้
และวิชาการที่สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย และการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน
รวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล
อันนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ
ได้อย่างทั่งถึงเป็นธรรม และประชาชนมีสุขภาพดีโดยถ้วนหน้า

ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
(สปสช.) กล่าวว่า สปสช.มีนโยบายที่ชัดเจนและต่อเนื่อง
ในการผลักดันให้มีระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชนที่มีคุณภาพได้
มาตรฐานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงด้วยความมั่นใจ
และงบประมาณอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 ปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท
เพื่อพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ บุคลากร และระบบสนับสนุนต่างๆ เช่น โครงการ
"โรงพยาบาลไร้ความแออัด"
ที่เน้นให้มีการจัดบริการปฐมภูมิในเขตเมืองเพื่อพัฒนาบริการในโรงพยาบาลขนาด
ใหญ่ โครงการศูนย์แพทย์ชุมชนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการแบบองค์รวมสามารถ
ดูแลประชาชนได้ในทุกมิติทั้งสุขภาพกาย ใจ สังคม
ผู้ป่วยไม่ต้องมากระจุกตัวใน รพ.ขนาด ใหญ่

"จากความร่วมมือนับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนา
ระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชนของประเทศไทย เพื่อผลลัพธ์สุดท้าย
คือ ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน
และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ยินดีและเต็มใจสนับสนุนการจัดการและทรัพยากร
ในการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชนที่ส่งผล
ต่อการพัฒนาคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" นพ.วินัย กล่าว

ด้าน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า
การสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการปฐมภูมิผ่านนโยบายโรงพยาบาลสร้างเสริม
สุขภาพตำบลนั้น จะเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย
นับแต่เรามีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
และหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่แท้จริงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้
หากไม่มีระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็งเพียงพอ
การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้ประสบความสำเร็จได้นั้น
ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย
จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญจากนักวิชาการสาขาต่างๆ
เข้ามาช่วยผลักดัน พัฒนารูปแบบ
รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรผู้ให้บริการ
เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่สถาบันวิชาการอย่างมหาวิทยาลัยมหิดล
ซึ่งได้ชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยด้านสุขภาพ"
ได้เข้ามาร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องผลักดันนโยบายนี้ให้เป็นจริง
ด้วยทุนทางวิชาการที่มีในมหาวิทยาลัย การสนับสนุนด้านนโยบาย ทรัพยากร
และการจัดการ จากกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
รวมทั้งจาก สวรส.เอง น่าจะทำให้เป้าหมายที่รัฐบาลได้กำหนดไว้
เป็นจริงได้ไม่ยาก

"อย่างไรก็ตาม
การจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาและยกระดับสถานีอนามัยสู่การเป็นโรงพยาบาลสร้าง
เสริมสุขภาพตำบล ให้ได้เป้าหมายตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล
และภายใต้การดำเนินงานอย่างครบวงจรในปี 2552-2555 คาดว่า
จะต้องใช้งบประมาณถึง 30,877.5 ล้านบาท จากแหล่งการคลังสุขภาพหลายแห่ง
แต่หากเทียบกับผลลัพธ์ที่คนไทยจะได้รับแล้ว ถือว่าคุ้มค่าอย่างยิ่ง
เพราะคุณภาพชีวิตของคนไทยจะดีขึ้นในทุกด้าน
ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรลงทุนและสนับสนุนอย่างจริงจัง"
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000063475

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น