++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

รายงานพิเศษ : ทุจริตเช่ารถเมล์ 4 พันคัน...ใครจะโดน "ฟัน" คนแรก?

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 มิถุนายน 2552 18:46 น.


อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน

ยิ่งตรวจ สอบ ยิ่งขุดคุ้ย
ก็ยิ่งพบความผิดปกติของโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน ที่ "พรรคภูมิใจไทย"
ภูมิใจนักหนา แถมอวดว่าเป็นผลงานที่จะเรียกคะแนนเสียงจากคน
กทม.ให้พรรคตัวเองได้ ล่าสุด ไม่เพียงรัฐมนตรีและแกนนำพรรคภูมิใจไทย
จะไม่ยอมรับว่า มีการทุจริตหรืองาบส่วนต่างจากตัวเลขที่สูงเกินจริงในโครงการนี้
แม้แต่ประธานบอร์ด ขสมก.ยังก้นร้อน-นั่งไม่ติด ลุกขึ้นมาฟ้องกรรมาธิการ
ป.ป.ช.ของสภา ที่ออกมาจับทุจริตตน ...อีกไม่นานคงได้ลุ้นว่า
ที่ปฏิเสธกันเสียงแข็งขณะนี้ ไม่ทุจริต-ไม่โกงกินดังปากว่าหรือไม่ ถ้าไม่
ก็จะได้ลุ้นอีกเช่นกันว่า ระหว่าง "ปธ.บอร์ด ขสมก.กับ รมต.คมนาคม"
ใครจะโยนเผือกร้อนก้อนนี้ได้เก่งกว่ากัน

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

นับวัน โครงการฉาวส่อกลิ่นคาวทุจริตคอร์รัปชันอย่างโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี
4 พันคัน มูลค่าเกือบ 7 หมื่นล้าน ระยะเวลา 10 ปี ของ
ขสมก.ที่ทั้งผลักทั้งดันโดยรัฐมนตรีคมนาคมจากพรรคภูมิใจไทย นายโสภณ
ซารัมย์ ยิ่งมีประเด็นใหม่ที่สร้างความกังขา ถูกเปิดออกมาเรื่อยๆ
ทำให้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถูกมองว่า "ซื้อเวลา" หรือไม่ก็
"เกี้ยเซี้ย" กับ พรรคภูมิใจไทย
ยังไม่กล้าฝืนกระแสสังคมด้วยการอนุมัติโครงการดังกล่าว
แต่เลือกที่จะยื้อเวลาด้วยการให้บอร์ดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ
เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ไปศึกษาว่า
ควรจะใช้วิธีเช่าหรือซื้อดี ทั้งที่ปัญหาไม่น่าจะอยู่ตรงที่เช่าหรือซื้อ
แต่อยู่ที่ความไม่ชอบมาพากล ความไม่สมเหตุสมผล
และส่อทุจริตของโครงการนี้ต่างหาก

ยกตัวอย่าง เมื่อหลายฝ่ายติงว่า
ทำไมค่าเช่ารถในโครงการนี้จึงสูงเกินเหตุตั้ง 6.9 หมื่นล้าน
รัฐมนตรีอย่าง นายโสภณ ก็ทำเป็นใจดี ออกมาประกาศลดราคา เหลือ 6.7
หมื่นล้าน พอถูกติงว่ายังสูงเกินไป นายโสภณ ก็ลดค่าเช่าให้อีกเหลือ 6.4
หมื่นล้าน ทำเอาหลายฝ่ายงงไปตามๆ กันว่า นายโสภณ เป็นรัฐมนตรีคมนาคม
หรือเป็นเจ้าของบริษัทเอกชนที่จะเป็นผู้ให้ ขสมก.เช่ารถเมล์ 4
พันคันกันแน่ ถึงได้เคาะตัวเลขค่าเช่ารถได้ในทันทีทันใด
ทำให้ค่าเช่ารถลดลงไปได้ตั้ง 5 พันล้าน คำถามที่ตามมา ก็คือ
ถ้าสังคมไม่ท้วงติง เงิน 5 พันล้านที่ว่านี้ จะไปเข้ากระเป๋าใคร?

นี่ยังไม่รวมข้อสงสัยที่ว่า ทำไม ขสมก.ต้องเช่ารถตั้ง 4 พันคัน
และนานถึง 10 ปี แถมค่าซ่อมยังแพงเกินจริง เพราะการกำหนดค่าซ่อมที่คันละ
2,250 บาทต่อวัน ตั้งแต่วันแรกยันวันสุดท้ายของการเช่า
ทั้งที่เป็นรถใหม่นั้น ถือเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะหลายฝ่ายได้ออกมาชี้ว่า
ค่า ซ่อมรถ หากเป็นรถใหม่ จะแค่ไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น และหากเฉลี่ย 10 ปี
ก็ไม่เกินคันละ 1,200 บาทต่อวัน ไม่ใช่ 2,250 บาทต่อวัน
(ทำให้เกิดส่วนต่างของค่าซ่อมรถ 15,000 ล้านบาท)
ส่วนรายได้ที่กระทรวงคมนาคมคาดว่า
ขสมก.จะได้รับเมื่อนำรถเมล์เอ็นจีวีมาวิ่ง คือวันละ 11,244 บาทต่อคันนั้น
ก็มีผู้ออกมาแฉว่า จริงๆ แล้วรายได้ของ ขสมก.ทุกวันนี้อยู่ที่ 6,146
บาทต่อคันต่อวันเท่านั้น ดังนั้น
หากยังยืนยันจะเดินหน้าโครงการเช่ารถเมล์ที่ว่านี้ จะทำให้
ขสมก.ขาดทุนทันที 3,660 บาทต่อคันต่อวัน หาก 4 พันคัน ก็จะขาดทุน 52,704
ล้านบาท!

ล่าสุด มีการเปิดประเด็นใหม่โดยกลุ่ม ส.ว.ที่ออกมาแฉว่า
การจัดทำทีโออาร์โครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน
ยังไม่ผ่านการเห็นชอบของสำนักงานอัยการสูงสุด แต่กลับมีการนำเสนอ
ครม.แล้ว แถมยังมีหลายประเด็นที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ เช่น การ
เสียค่าปรับ หากบริษัทเอกชนส่งมอบรถให้รัฐไม่เป็นไปตามสัญญา จะถูกปรับแค่
11.90 บาทต่อวัน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ขณะที่ค่าประกันภัยรถ
กลับรวมอยู่ในค่าเช่ารถที่รัฐต้องเป็นผู้รับภาระ
ทั้งที่ควรเป็นของบริษัทเอกชน ฯลฯ

ไม่ว่าหลายภาคส่วนในสังคมจะออกมาชี้พิรุธของโครงการเช่ารถเมล์มากมาย
ขนาดไหน แต่นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคม ก็ยังยืนยันคำเดิมว่า
โครงการดังกล่าวเป็นเรื่องดีและจำเป็น พร้อมเชื่อว่า คน
กทม.หนุนโครงการนี้ แต่อาจจะนอนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ออกมาหนุน ดังนั้น
พรรคภูมิใจไทยจึงต้องพยายามโฆษณาด้วยการลงสื่อสิ่งพิมพ์และขึ้นป้าย
คัตเอ๊าท์ให้คนรู้ว่าเป็นผลงานของพรรค
(แต่ไม่ได้ใช้เงินพรรคเท่านั้นในการโฆษณา กลับดึงเงิน
ขสมก.มาช่วยด้วยประมาณ 3 ล้าน ทั้งที่
ขสมก.อยู่ในภาวะย่ำแย่ขาดทุนอย่างหนักประมาณ 7 หมื่นล้าน)

เป็นที่น่าสังเกตว่า
ไม่เพียงรัฐมนตรีคมนาคมจากพรรคภูมิใจไทยจะหาทางสร้างความชอบธรรมให้กับ
โครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันด้วยการอ้างว่า
เตรียมจัดประชาพิจารณ์ฟังความเห็นของหลายๆ ฝ่ายในเร็วๆ นี้
โดยตนจะไปนั่งฟังด้วย แต่แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน พรรคภูมิใจไทย อย่าง
นายเนวิน ชิดชอบ (ที่ออกมาประกาศว่า
โครงการเช่ารถเมล์จะทำให้พรรคได้คะแนนเสียงใน กทม.เพิ่มขึ้น)
ยังลงทุนถึงขนาดตั้ง "โฆษกเรื่องรถเมล์" ขึ้น มา โดยให้ น.ส.ศุภมาส
อิศรภักดี รองโฆษกของพรรค ทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่ง น.ส.ศุภมาส
ก็เปิดฉากด้วยการอ้อนคน กทม.พร้อมโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ทันที

"ขอ วิงวอนคนกรุงเทพฯ ว่า ก่อนจะคิดว่าพรรคภูมิใจไทยโกง
ขอให้ช่วยคิดว่า อยากให้มีการปรับปรุงการบริการ ขสมก.หรือไม่
และการที่พรรคประชาธิปัตย์คัดค้านเรื่องนี้นั้น อยากถามว่า
กลัวว่าพรรคภูมิใจไทยจะได้ฐานเสียงใน กทม.ใช่หรือไม่
หากเห็นว่าโครงการนี้ไม่ดี เหตุใด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ
กทม.ถึงเต็มใจจะนำโครงการนี้ไปทำเอง ดังนั้น
การออกมาคัดค้านจึงเป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น
พรรคภูมิใจไทยกำลังจะมีโครงการต่างๆ ให้คน กทม.ให้มากขึ้น
และมั่นใจว่าในการเลือกตั้ง ส.ก.และ ส.ข.ในปี 2553 นี้ จะมี ส.ก.และ
ส.ข.ของพรรคภูมิใจไทยเกิดขึ้นแน่นอน"

ด้าน นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และบิดาของนายเนวิน
ก็ออกมาช่วยการันตีเช่นกันว่าโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันไม่มีการโกงกิน
"เรื่อง เช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ก็เหมือนกับการหาข้าวสารใส่หม้อ
ซึ่งยังไม่ได้มีอะไร เพียงแค่พรรคภูมิใจไทยถือหม้อมามีแต่น้ำ
กำลังหาข้าวสารคือค่าโดยสารจากประชาชน แต่ปรากฏว่ายังไม่มีอะไร
แล้วก็มาหาว่าโกงคอร์รัปชั่นกันแล้ว บ้านเมืองจะไปกันใหญ่
ควรจะสมานฉันท์รอมชอมกัน"

นอกจากแกนนำพรรคภูมิใจไทยและเครือญาติจะไม่ยอมรับว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการเช่ารถเมล์
4 พันคันแล้ว ด้านนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานบอร์ด
ขสมก.ที่ออกมาประสานเสียงช่วยหนุนโครงการเช่ารถเมล์
ก็ทนไม่ได้เช่นกันที่ถูกนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก
พรรคประชาธิปัตย์
และรองประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่ามีส่วนร่วมในการทุจริตโครงการเช่ารถเมล์
นายปิยะพันธ์จึงขึ้นศาลฟ้องว่านายชาญชัยหมิ่นประมาทตนเมื่อวานนี้(10
มิ.ย.) โดยนายปิยะพันธ์ อ้างว่า โครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันอยู่ระหว่างรอ
ครม.อนุมัติ ดังนั้นยังไม่มีการทุจริตแต่อย่างใด!?!

ด้านนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ เผยกับวิทยุ ASTVผู้จัดการ
โดยยืนยันว่า นายปิยะพันธ์ ในฐานะประธานบอร์ด
ขสมก.ต้องรับผิดชอบโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันในฐานะผู้ชงเรื่องนี้เข้า
ครม.โดยให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
และทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร

"คือ คุณปิยะพันธ์ ไม่ใช่ นายปิยะพันธ์ คุณปิยะพันธ์ คือ
ประธานบอร์ด ทีนี้ประธานบอร์ดมันมีอำนาจในการอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง
ก่อนจะไปเข้า ครม.ทีนี้เอกสารปรากฏว่า
คุณปิยะพันธ์ในนามบอร์ดได้ทำเรื่องการซื้อ การเช่ารถเมล์เข้าสู่
ครม.หลายรอบ มันเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
และเป็นข้อมูลที่ทำให้เกิดเป็นปัญหา เกิดความเสียหายต่อองค์กรอีกด้วย
และละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่ทำให้ถูกต้อง
อันนั้นก็เป็นเรื่องที่คุณปิยะพันธ์ต้องรับผิดชอบในฐานะประธานบอร์ด
อันนั้นมันเป็นหลักการ เพราะเราได้ถามรักษาการ คือ คุณชัยรัตน์
(สงวนซื่อ) อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรักษาการ ผอ.ขนส่งมวลชน (ขสมก.)
และเป็นรองประธานคนที่ 2 ก็มาชี้แจงว่า อำนาจทั้งหมดเนี่ย เป็นอำนาจบอร์ด
ซึ่งคุณปิยะพันธ์ เป็นประธานอยู่
ทีนี้เราก็ขอให้เขาสรุปเรื่องทั้งหมดมาดูว่า บอร์ดอนุมัติแบบไหน
หรือไม่อนุมัติ หรือ รมต.ไปทำเอง ที่เข้า
ครม.ทีนี้ถ้าเกิดอนุมัติก็แสดงว่าได้หละหลวม และทำให้เกิดความเสียหาย
ละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งเราจะสรุปวันอังคารหน้า (16 มิ.ย.)
ถ้าแกผิด เราเห็นเอกสารว่ามันผิดปกติ และก็มีการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ
ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และปรากฏว่า ครม.ตีกลับออกมา และมีการลดราคาได้ถึง
5 พันล้านบาท ซึ่งเห็นชัดว่าเป็นการส่อไปในทางทุจริต
อันนี้ก็เป็นความผิดขั้นหนึ่งแล้ว ที่จะส่งให้ ป.ป.ช.ไปดำเนินคดีได้แล้ว"

"(ถาม-คุณปิยะพันธ์ บอกว่า โครงการนี้อยู่ระหว่างรอ ครม.อนุมัติ
เพราะฉะนั้นยังไม่มีการทุจริต ฟังได้มั้ย?)
มันเป็นเรื่องที่คุณปิยะพันธ์มีความเห็น
แต่คุณปิยะพันธ์ต้องรู้ระเบียบระบบราชการ ว่า
การที่มีข้อมูลที่ขออนุมัติไปแล้วถูกตีกลับแล้วตีกลับอีก
แล้วก็ลดราคาได้ถึง 5 พันล้าน ถ้า
ครม.ไม่ละเอียดรอบคอบหรือสังคมไม่จับตามอง หรือสังคมไม่ท้วงติง
สื่อไม่ท้วงติง เกิดหลุดพลาดพลั้งไป เงิน 5 พันล้านที่ลดไปเนี่ย
มันก็จะกลายเป็นความเสียหายหนักเข้าไปอีก"

ส่วนกรณีที่ทาง ส.ว.เปิดประเด็นว่า
ทีโออาร์โครงการเช่ารถเมล์ยังไม่ผ่าน แต่กลับมีการนำเสนอเข้าที่ประชุม
ครม.แล้วนั้น นายชาญชัย บอกว่า ตนได้ถามนายชัยรัตน์ สงวนซื่อ
อธิบดีกรมขนส่งทางบก ในฐานะรองประธานบอร์ด ขสมก.และรักษาการ ผอ.ขสมก.
ที่เข้าชี้แจงเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.แล้ว โดยนายชัยรัตน์ยอมรับว่า
ทีโออาร์ยังไม่แล้วเสร็จ แต่กลับมีการเสนอเข้าที่ประชุม ครม.
ดังนั้นนี่จึงเป็นจุดหนึ่งที่ยิ่งชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติของโครงการเช่ารถ
เมล์

"เมื่อ วานนี้ (9 มิ.ย.) ผมก็ถามรักษาการ (ผอ.ขสมก.) เขาก็บอกว่า
ทีโออาร์นี่ยังไม่ได้ทำ ทีนี้ยังไม่ทำ ปรากฏว่า มันไปปรากฏในเอกสารใน
ครม.อ้างอิง 11 ข้อ ว่าในทีโออาร์ที่กำหนดร่างขึ้นมาเนี่ย เอามาเป็นโจทย์
แล้วก็มาตั้งเป็นราคา ก็เท่ากับล็อกสเปกแล้ว
ที่จะต้องใช้เงินจำนวนเท่าไหร่ โดยหลักแล้ว ทีโออาร์มันต้องทำทีหลัง คือ
1.บอร์ดอนุมัติจากหน่วยงานที่ทำขึ้นมาแล้วว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ใน
โครงการนี้ 2.รัฐมนตรีก็จะเสนอให้ทบทวนว่าเห็นชอบกับบอร์ดมั้ย
ถ้าไม่เห็นชอบก็จะทบทวน ถ้าเห็นชอบก็เสนอ ครม.3.ครม.เห็นชอบมั้ย
ถ้าเห็นชอบก็จะผ่านให้
พอผ่านให้กระบวนการทั้งหมดที่เขียนไว้ในหนังสือนั้นก็จะไปผูกพันทันที
แม้ว่าเป็นความผิด ที่ทำแล้วผิด ครม.ต้องรับผิดชอบ ก็จะไปปฏิบัติได้
พอปฏิบัติได้ ก็จะไปตั้งคณะกรรมการร่างทีโออาร์
เป็นคณะกรรมการเตรียมทำราคากลาง คณะกรรมการเตรียมทำเรื่องประกวดราคา
คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคา คณะกรรมการตรวจสอบพัสดุอะไรก็ว่าไป
ทีนี้กลายเป็นว่า ทีโออาร์นี่ทำเสร็จเรียบร้อย ล็อกสเปกไว้หมดแล้ว
แล้วนำเสนอ ครม.ซึ่ง ครม.ยังไม่ได้เห็นชอบเลยเนี่ย
ซึ่งอันนี้ยิ่งผิดใหญ่เลย เห็นมั้ยมันผิดปกติเลย"

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา
และประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการ
ดำเนินการของรัฐ เผยว่า หลังจากคณะกรรมาธิการทั้ง 5 คณะของ
ส.ว.มีการแบ่งงานกันตรวจสอบโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน
ตนซึ่งดูแลคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการ
ดำเนินการของรัฐ
จะสอบถามความเห็นประชาชนผ่านการเสวนาว่าจะต้องปรับปรุงกฎระเบียบอย่างไรจึง
จะทำให้การประมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส
เนื่องจากพบว่าการประมูลโครงการเช่ารถเมล์ 4
พันคันมีกฎระเบียบหรือกฎหมายบางประการที่ทำให้การประมูลไม่โปร่งใส
และมีการตั้งราคาสูงเกินจริง 30-40%

ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีคมนาคมจะจัดประชาพิจารณ์โครงการเช่ารถเมล์ใน
เร็วๆ นี้นั้น นายไพบูลย์ บอกว่า หากจะทำประชาพิจารณ์จริงๆ
ไม่ต้องถามว่ารถเมล์ใหม่ดีหรือไม่ หรือใช้เอ็นจีวีดีหรือไม่
เพราะประเด็นนี้ไม่มีใครแย้งอยู่แล้ว แต่ควรทำประชาพิจารณ์ว่า
จะทำโครงการนี้ให้โปร่งใสอย่างไรมากกว่า ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่า
ขสมก.หมดสภาพและหมดความน่าเชื่อถือที่จะดำเนินการเรื่องรถเมล์แล้ว
ควรให้องค์กรอื่นเข้ามาดูแล
หรือไม่ก็ให้สัมปทานเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจะดีกว่า

"องค์กร แบบ ขสมก.หมดสภาพความเชื่อถือแล้ว
ดูแล้วแม้กระทั่งจะซ่อมรถ ผู้บริหารก็ยังบอกว่า ไม่สามารถซ่อมได้
จะสังเกตนะบทสัมภาษณ์เป็นยังไง ไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่สามารถทำได้
มันต้องจ้างเอกชนหมด ทุกอย่างต้องจ้างหมด
เมื่อทุกอย่างจ้างหมดแล้วก็เอาสัมปทานไปให้เอกชนด้วยก็ดี
ตัวเองก็อย่าทำอะไรเลย ก็จะได้จบปัญหา แนวคิดเราก็คือ ถ้าขาดทุนอยู่ 6
หมื่นกว่าล้านอยู่แล้ว วิธีหลักก็คือ ควรจะหยุดการขาดทุนซะ
ถ้าปล่อยให้องค์กรนี้บริหารต่อไป แนวโน้มจากสถิติที่ตัวเองทำมา ก็คือ
เขาก็จะขาดทุนเพิ่มเติมขึ้น ดังนั้นควรจะหยุดดำเนินการได้แล้ว ขสมก.
และจะเป็นองค์กรอื่นมาดูแลหรือจัดสัมปทานเลยก็จะโอเคกว่า แต่ทั้งนี้
ก็ไม่ได้ถึงหมายว่าต้อง กทม.หรืออะไร แต่ไม่น่าจะเป็น
ขสมก.ในสถานะปัจจุบัน"

"(ถาม-เพราะฉะนั้น ยังไงโครงการเช่ารถเมล์ก็ส่อทุจริตแน่นอน?)
ดูแล้วมีการไม่โปร่งใส จะส่งผลให้เกิดทุจริตได้
(ถาม-ซึ่งรัฐมนตรีกับคุณปิยะพันธ์จะเสียงเดียวกัน โดยบอกว่า
ครม.ยังไม่อนุมัติ เพราะฉะนั้นยังไม่มีการทุจริต?) ไม่จริง
ต้องไปดูกฎหมาย พ.ร.บ.ฮั้ว(พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
พ.ศ.2542)นะ มาตรา 11-12 เรากำลังดูอยู่ว่า
หากมีการที่ทำลักษณะทำให้มีการเสนอราคา การออกแบบอะไรต่างๆ
ในการล็อกสเปคอะไรต่างๆ แล้วมีท่าทางที่จะทุจริต
ก็จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายฮั้วได้ ซึ่งเรากำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่"

ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ อดีต ส.ว.กทม.
และอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
ก็ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันเช่นกัน
โดยบอกว่า โครงการนี้มีกลิ่นคาวของคอร์รัปชันอยู่

"มัน ไม่ได้คิดขึ้นโดยตรงไปตรงมา
มันเริ่มจากปัญหาเรื่องเปลี่ยนเชื้อเพลิงแค่นั้นเอง
มันไม่ใช่คิดแต่แรกว่า เออ! รถเมล์กรุงเทพฯ นี่สายมันยาวเหลือเกินนะ
น่าจะมีเส้นหลักเส้นรอง มันต้องเริ่มคิดจากตรงนั้น แล้วค่อยมาบอก เออ!
จะปฏิรูป ขสมก.อะไรก็ว่ากันไป ตั๋วเดียวขึ้นทั้งวันอะไรก็ว่ามา
ไม่ได้เริ่มจากอันนั้น เริ่มจากปัญหาเชื้อเพลิง ซึ่งเขาเสนอไว้
สมัย(รัฐบาล)สุรยุทธ์เขาเสนอไว้แต่เพียงว่าเอารถเก่ามาเปลี่ยนเครื่องเท่า
นั้นเอง มันลามมาถึงตรงนี้ มันทำให้ ไม่เข้าใจว่าคิดอย่างนั้นทำไม นี่คือ
ความเป็นมาที่มันประหลาด (ถาม-หลังจากนั้นพอเริ่มเห็นวงเงินโครงการ
ก็เริ่มเห็นพิรุธมากขึ้นเหรอ?) ไม่ใช่เรื่องวงเงิน มันเป็นเรื่องว่า
มันเอา 6 พันคัน รถเดิมก็มีอยู่แล้ว รถร่วมเขาก็ทำงานอยู่ด้วย
คุณไปโยนทิ้งหมดได้ยังไง ทำไมอยากได้รถใหม่อะไรนักหนา
รู้อยู่แล้วว่ารถใหม่ เราไม่มีตังค์จะซื้อ คิดมาได้ยังไง
ก็สงสัยกันตรงนี้ แล้วทำไมมันดูไม่มีหลักมีเกณฑ์อะไร มัน 6 พัน
(ตอนแรกจะเช่ารถ 6 พันคัน) เขาต่อ 4 พันก็เอา อะไรกันเนี่ย
มันแสดงความไม่กระจ่างชัดในตัวโครงการเขาว่า ปัญหามันคืออะไร และทำอะไร
เพราะอะไร ตัวนี้มัน defend ไม่ได้ เป็นวิทยานิพนธ์
ก็สอบไม่ได้หรอกแบบนี้"

"(ถาม-รัฐมนตรียืนยันว่า ที่ทำนี่เพื่อแก้ปัญหาขาดทุนของ ขสมก.
และไม่ได้ใช้งบประมาณ เอารายได้ในอนาคตของ ขสมก.มาจ่าย?)
จุดใหญ่มันอยู่ที่ว่า เมื่อมีการลงทุน
ไม่ว่าจะเปลี่ยนรถเดิมหรือซื้อรถใหม่หรือเช่าอะไรก็แล้วแต่
คุณไม่มีตังค์ใช่มั้ย ก็สัมปทานไปสิ ได้ไม่ต้องมานั่งมองกันอย่างนี้
ทีนี้ถ้าเปลี่ยนมาเป็น บอกยังเป็นของเราอยู่ แล้วเราเช่า
แล้วเช่าอะไรตั้ง 4 พันคัน แล้ว 10 ปี ประเมินมาจากค่าอะไร
ไม่วิ่งก็ต้องจ่าย ไม่ซ่อมก็ต้องเสีย ประเมินรายได้จากอะไรก็ไม่รู้
ตัวเลขในการเหมาทั้งหมด 4 พันก็ดี 10 ปีก็ดีเนี่ยมันเลื่อนลอยเป็นที่สุด
แล้วพวกเราก็มัวแต่ไปเถียงว่า เออ! มันแพงหรือถูก มันไม่ใช่
เป็นเรื่องไม่มีตังค์ ให้สัมปทานเขาไปสิ
แล้วทำไมต้องมาเช่าในราคาตายตัวแบบนี้ แล้วก็ฟิกซ์ยาวตั้ง 10 ปี"

เมื่อถามว่า
กรณีที่รัฐมนตรีคมนาคมเตรียมจัดประชาพิจารณ์โครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน
จะสามารถสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการนี้ได้หรือไม่ นายแก้วสรร บอกว่า
การประชาพิจารณ์ขึ้นอยู่กับโจทก์ โดยโจทย์ข้อแรก ต้องตอบให้ชัดว่า
การจะเช่ารถเมล์ 4 พันคัน และระยะเวลา 10 ปี มาได้ยังไง คิดจากฐานอะไร
2.คนที่คิดเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ปรึกษาหรือ
ขสมก.หรือบริษัทขายรถ ต้องโผล่มาร่วมประชาพิจารณ์ด้วย เพื่อความโปร่งใส
และโจทย์ข้อสุดท้าย ต้องบอกได้ว่า ก่อนจะมาเป็น 4 พันคัน
ก่อนจะมาเป็นการเช่ารถ ทำไมไม่มีทางเลือกอื่น ต้องตอบให้ได้ว่า
ทำไมไม่ให้สัมปทานเพราะอะไร ไม่ซื้อเพราะอะไร ไม่เช่าซื้อเพราะอะไร
ต้องไมต้องเช่า ไม่ใช่อยู่ดีดีบอกว่า "กูจะเอาอย่างนี้ มึงเถียงกูมาสิ"

สรุปก็คือ ก่อนจะมาถึงบทสรุปที่ว่าต้องเช่ารถ 4 พันคันนี้
ได้ผ่านโจทย์ความคิดอะไรมาบ้าง และแต่ละโจทย์ไม่เอาเพราะอะไร
อยู่บนข้อมูลพื้นฐานอะไร ไม่ใช่อยู่ดีดี ไม่ยอมพูดถึงบทที่ 1-2-3-4
แต่ข้ามไปพูดบทสรุปบทที่ 5 เลย อย่างนี้ไม่ไหว
และไม่เรียกว่าประชาพิจารณ์!!

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000066079

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น