++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วงจรอุบาทว์ ประชาธิปไตย 4 วินาที และการเมืองใหม่

วงจรอุบาทว์ ประชาธิปไตย 4 วินาที และการเมืองใหม่
โดย สำราญ รอดเพชร


เมื่อเอ่ยคำว่า "วงจรอุบาทว์" ท่านนึกถึงอะไร?

สำหรับผมเป็นมานานแล้ว เอ่ยคำนี้ทีไรก็นึกถึงใบหน้า พ.อ.สมคิด
ศรีสังคม อดีตหัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย อดีต ส.ส.หลายสมัย

ต้นปี 2523 เมื่อครั้งประจำอยู่กองบรรณาธิการนิตยสารสยามนิกร
(อาทิตย์) รายสัปดาห์ ที่ "ท่านขุนน้อย" แห่ง
นสพ.ไทยโพสต์ในปัจจุบันเป็นหัวเรืออยู่ กองบรรณาธิการได้จัดเสวนาการเมือง
โดยเชิญนักการเมือง นักวิชาการ
นักเคลื่อนไหวทางการเมืองมาร่วมกันแสดงความเห็นถึงหนทางการพัฒนาประชาธิปไตย
ให้ก้าวไปข้างหน้า..

พ.อ.สมคิดได้ฉายภาพความล้มลุกคลุกคลานของการเมืองไทย
สรุปว่าที่ผ่านๆ
มาวนเวียนอยู่ที่การเลือกตั้งสลับด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร กล่าวคือ
เลือกตั้งเสร็จแล้วจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่นานก็จะมีคณะนายทหารลากรถถังมายึด
อำนาจฉีกรัฐธรรมนูญ ตั้งรัฐบาลใหม่ ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
จากนั้นจัดให้เลือกตั้งกันใหม่ ได้รัฐบาลใหม่
แล้วต่อมาก็เกิดรัฐประหารอีก ฉีกรัฐธรรมนูญอีก ซึ่งบางครั้งเหตุผลลึกๆ
ของการรัฐประหารนั้นเกิดจากความขัดแย้งกันเองของผู้นำนายทหารในกองทัพ
แต่จะอ้างเหตุผลทางด้านความมั่นคง หรือทางการเมืองแทน..

พ.อ.สมคิดบอกว่าวงจรดังกล่าวมันคือ "วงจรอุบาทว์"

ตอนนั้น "ท่านขุนน้อย" สั่งซับเอดิเตอร์พาดปกตัวเป้งว่า
"การเมืองไทย -วงจรอุบาทว์"

สำหรับผม นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ยินและจดจำมาจนบัดนี้
และยังจำได้ว่าหลังการเสวนาวันนั้น ได้มีการก่อกำเนิด
"คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย" หรือ ครป. โดยมีอาจารย์โคทม อารียา
หนึ่งในผู้เข้าร่วมสัมมนา เป็นโต้โผ

ขณะที่นักข่าวสายการเมือง - ความมั่นคงในรุ่นราวคราวเดียวกัน เช่น
บุญเลิศ ช้างใหญ่ ศุภฤกษ์ ตั้งใฝ่คุณธรรม ณรงค์ ชื่นชม ตัวผม
และอีกบางคนได้ร่วมกันเขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า
"กองทัพไทย-วงจรอุบาทว์" โดยให้สำนักพิมพ์ อาทิตย์จัดพิมพ์
เข้าใจว่ายอดขายตอนนั้นคงประมาณเศษหนึ่งส่วนห้าร้อยของยอดขาย "ลับ
ลวงพราง" ของคุณวาสนา นาน่วม ที่ขายดิบขายดีในยุคสมัยนี้

ผมพยายามค้นหาพอกเก็ตบุ๊ก "กองทัพไทย : วงจรอุบาทว์" เพื่อ
อยากดูว่าพวกผมเขียนเอาไว้อย่างไรบ้าง
แต่ก็หาไม่พบ...แต่ถึงค้นหาไม่พบก็ยังจำเค้าโครงเนื้อหาของพอกเก็ตบุ๊กที่ว่า
ได้ ซึ่งประเด็นหลักที่พวกเราเขียนถึงก็คือ
ทำไมกองทัพต้องทำการปฏิวัติรัฐประหาร
หน่วยคุมกำลังหน่วยไหนบ้างที่มีบทบาท
และแน่นอนหนังสือเล่มนั้นได้แสดงความเห็นอย่างใสซื่อต่อต้านการปฏิวัติรัฐ
ประหารที่เป็นส่วนสำคัญของ "วงจรอุบาทว์"

ครับ เล่าสู่กันฟังหรือบันทึกไว้ก็เพื่อกันลืมในวันหน้า...ว่าคำว่า
"วงจรอุบาทว์" ในความทรงจำของผมเป็นอย่างไร

ผมแอบเข้าไปดู "วงจรอุบาทว์" ในบทสรุปของ "วิกิพีเดีย"

"วงจร อุบาทว์หมายถึง วงจร
หรือวัฏจักรที่ก่อให้เกิดความเสื่อมทรามลง และหากไม่มีแทรกแซงแก้ไข
วัฏจักรนี้จะดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด
มักถูกใช้เป็นคำศัพท์ทางการเมืองการปกครองของประเทศไทยเพื่อแสดงถึงวงจรการ
เลือกตั้งที่เกิดจากการซื้อเสียง คือ
ถ้ารัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผลมาจากการซื้อเสียง
เมื่อรัฐบาลนั้นปกครองประเทศก็มีแนวโน้มที่จะโกงกินคอร์รัปชันเพื่อให้เกิด
ประโยชน์ส่วนตัว จนกระทั่งหมดสมัย
เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็มีแนวโน้มที่รัฐบาลเดิมจะได้รับเลือกตั้ง
เนื่องด้วยการซื้อเสียงด้วยเงินที่ได้จากการโกงกินขณะเป็นรัฐบาล
ทำให้พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่สามารถเข้าไปเป็นรัฐบาลได้
และจะเป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไป"

นั่น..วิกีพีเดีย เขาว่าไว้อย่างนั้น แล้วท่านล่ะ
จะไม่ลองลับปัญญาให้นิยามคำว่า "วงจรอุบาทว์"
สำหรับการเมืองไทยกันหน่อยหรือ?

ผมว่า ถ้านับถอยหลังไป 3- 4 ปี คำว่า "วงจรอุบาทว์"
สำหรับการเมืองไทย มันคือฝาแฝดของคำว่า "ประชาธิปไตย 4 วินาที"
ที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล บัญญัติเอาไว้ทีเดียวเชียวล่ะ

ประชาธิปไตย 4 วินาที มีความหมายไปทำนองว่า
ประชาชนมีสิทธิมีเสียงส่วนร่วมทางการเมืองแค่ 4
วินาทีตอนหย่อนบัตรเลือกตั้งในคูหาเท่านั้น หลังจากนั้นเป็นเรื่องของ
ส.ส.นักการเมืองที่จะใช้อำนาจวาสนาที่ได้มาบริหาร โกงกิน
ถอนทุนที่จ่ายไปในการเลือกตั้ง
และสะสมทุนเพื่อจะไปโกงเลือกตั้งจากประชาธิปไตย 4 วินาทีต่อไป...

"ประชาธิปไตย 4 วินาที" มันจึงเป็น..วงจรอุบาทว์พันธุ์แท้เหมือนกัน..

..........................

ครับวันนี้ 24 มิ.ย. 2552 ครบรอบ 77 ปี
ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบ
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

บนเส้นทางวันเวลา 77 ปี เราผ่านสิ่งที่เรียกว่า "ปฏิวัติ
รัฐประหาร กบฏ" มา 25 ครั้ง

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่ให้คุณค่าวันที่ 24 มิ.ย. 2475
ที่ "คณะราษฎร"ก่อการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ที่มีความหมายตรงกับคำว่า
"ปฏิวัติ" อันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่หรือสิ่งที่ดีกว่า
นอกนั้นเป็นเพียงการรัฐประหารหรือไม่ก็กบฏเท่านั้น

แต่ก็มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่พยายามให้คุณค่าเหตุการณ์
14 ตุลาคม 2516 ว่าเป็นการ "ปฏิวัติ"

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะถามอยู่ในใจว่าแล้ว 193
วันของการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการพลเรือนในปี 2551
ของคนไทยภายใต้การนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยล่ะ
พอจะยกชั้นเทียบค่าคำว่า "ปฏิวัติ" ได้ไหม?

อันนี้ก็นานาจิตตัง แต่ผมว่าอย่าไปติดยึดกับคำว่า
ปฏิวัติหรือไม่ปฏิวัติเลย
ปล่อยให้สังคมให้คุณค่ากับการต่อสู้ดังกล่าวไปโดยธรรมชาติ
ขอเพียงแต่พี่น้องที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้
193วันจดจำมันไว้ด้วยความงดงาม ความเป็นจริง
และบอกกล่าวคนรุ่นหลังให้ซึมซับรับทราบต่อๆ ไป ว่าเราต่อสู้เพื่อใคร
เพื่ออะไร พร้อมๆ กับร่วมกันสร้างสิ่งที่เรียกว่า "การเมืองใหม่"
ให้เป็นจริง เพื่อลบล้างคำว่า "วงจรอุบาทว์" และ "ประชาธิปไตย 4 วินาที"
ไปให้หมดสิ้น

ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญกว่า ใช่ไหมครับ!?


samr_rod@hotmail.com

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000070992

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น