++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เอกอัครราชทูตกัมพูชาจีบไทยลงทุน-ชี้เขมรนำเข้าสินค้าไทยถึง80%

ศูนย์ข่าวขอนแก่น-เอกอัครราชทูต กัมพูชาประจำประเทศไทย
มั่นใจลู่ทางขยายการค้า/ลงทุน ไทย-กัมพูชามีสูง ภายหลัง "อภิสิทธิ์"
รุดเจรจา "ฮุนเซน" แก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศราบรื่น
ระบุฐานรายได้ประชากรกัมพูชาสูง เชื่อเป็นโอกาสสินค้าไทยขยายตลาด
ด้านนายกสมาคมธุรกิจไทยในกัมพูชา
เผยการบริโภคสินค้าในกัมพูชาต้องนำเข้าสินค้ามากกว่า 80%
มั่นใจเป็นโอกาสดีให้นักลงทุนทุนไทยเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตหลากประเภท
ป้อนตลาดกัมพูชา แนะรัฐเป็นผู้นำกระชับความสัมพันธ์เชื่อมการค้าทั้ง 2
ประเทศ

วันนี้( 16 ม.ย.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
ร่วมกับ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา
ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง
"โอกาสและความท้าทายในการค้าการลงทุนในประเทศกัมพูชา" โดยมี H.E. Lok
Chumteav YOU AY เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ร่วมปาฐกถาพิเศษ
ให้แก่นักธุรกิจ นักลงทุน เจ้าหน้าที่รัฐ
ในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง ณ ห้องมรกต 1 โรงแรมบุษราคัม
อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

วัตถุประสงค์การจัดสัมมนาดังกล่าว
เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน ขั้นตอนการดำเนินกิจการ
และสถานการณ์การลงทุนในประเทศกัมพูชา
โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในประเทศกัมพูชา เช่น
ท่านเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย
อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ประจำกรุงพนมเปญ พร้อมด้วยนักลงทุน
และนักวิชาการที่มีประสบการณ์ด้านการลงทุนในกัมพูชา
มาให้ความรู้แก่ผู้ร่วมสัมมนา

นาง ยู ออย เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย
หยิบยกถึงศักยภาพตลาดในประเทศกัมพูชา
ดึงดูดนักลงทุนและนักธุรกิจในพื้นที่ภาคอีสาน เข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชา
โดยประเด็นหลักคือกัมพูชา เพิ่งเปิดประเทศ
ที่ผ่านมามีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง
เป็นโอกาสดีที่นักลงทุนไทยจะเข้าไปทำการค้าและลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตใน
ประเทศกัมพูชา

สำหรับสินค้าไทยในสายตาของชาวกัมพูชา เป็นสินค้าคุณภาพ
และเป็นที่ต้องการของชาวกัมพูชาสูงมาก
แต่การซื้อสินค้าที่ผ่านมาจะซื้อสินค้าที่ผลิตจากประเทศเวียดนาม
เนื่องจากราคาถูก แต่สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก
เนื่องจากประชาชนชาวกัมพูชา มีฐานรายได้ประชากรสูงขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น
จึงหันมาให้ความสนใจเลือกซื้อสินค้าไทย
อีกทั้งผลไม้ไทยก็เป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่สามารถขยายตลาดไปยังประเทศ
กัมพูชาได้

การ เปิดตลาดการค้าระหว่าง 2 ประเทศ
จะเกิดประโยชน์มหาศาลแก่ประชากรทั้ง 2 ประเทศ ทั้งนี้ในอนาคต
หากประชาชนในประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้น
เป็นโอกาสดีที่นักลงทุนไทยจะเข้าไปลงทุนในกัมพูชา
โดยกัมพูชามีที่ดินพร้อมให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร

เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย
กล่าวถึงกรณีวิกฤตทางการเมืองและปัญหาชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาว่า
ผู้ที่เสียประโยชน์คือ ประชาชนทั้ง 2 ประเทศ
โดยเฉพาะฝ่ายไทยจะเป็นฝ่ายที่เสียผลประโยชน์มากกว่า
เพราะวัดจากดุลการค้าระหว่างประเทศ ไทยส่งออกสินค้าไปกัมพูชาถึง 10 ส่วน
แต่กัมพูชาส่งออกไปยังไทยเพียงแค่ 3 ส่วนเท่านั้น
ซึ่งช่วงเกิดความขัดแย้ง
รัฐบาลกัมพูชาจะรณรงค์ไม่ให้มีการต่อต้านสินค้าไทยอย่างจริงจัง

ชี้ "อภิสิทธิ์" เยือน "ฮุนเซน" ส่งผลดีต่อการค้า 2 ประเทศ

ทั้งนี้ กรณีการเดินทางเยือนกัมพูชาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรีไทย ที่ได้พบปะเจรจากับนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
ที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จดี ทั้ง 2 ฝ่ายมีความจริงใจ
กระชับเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
โดยมีความเห็นตรงกันต่อการควบคุมสถานการณ์ปัญหาชายแดนไม่ให้กระทบกระทั่งกัน

ทั้งจะมีการขยายการค้าระหว่าง 2 ประเทศให้มากที่สุด
และปรับปริมาณการค้าให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น
และร่วมกันผลักดันด้านการท่องเที่ยวที่ 2
ประเทศมีศักยภาพให้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน
ที่สำคัญการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะเส้นทางหมายเลข 68
พร้อมแก้ไขพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล
จะเสริมสร้างบรรยากาศด้านการค้าและการลงทุนทั้ง 2 ประเทศได้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันนาง จีรนันท์ วงษ์มงคล
อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ประจำกรุงพนมเปญ กล่าวว่า
การขยายตลาดการค้าการลงทุนระหว่างไทยกัมพูชา มีโอกาสขยายตัวสูงมาก
เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีชายแดนติดต่อกัน และมีด่านการค้าถึง 6 ช่องทาง
ทั้งกัมพูชาเป็นประเทศเดียวที่ไทยสามารถส่งออกสินค้าเข้าไปยังกัมพูชาโดยไม่
ต้องมีใบรับรอง เป็นโอกาสที่จะขยายการส่งออกเข้าไปยังกัมพูชาได้สูง

ที่สำคัญกัมพูชาเป็นประเทศเดียว ที่ให้การยอมรับเงินบาทไทย
ในการทำธุรกรรมการค้าในระบบสถาบันการเงิน ควบคู่กับเงินเรียล ของกัมพูชา
และเงินดอลลาร์สหรัฐ สามารถนำฝากในระบบธนาคารของกัมพูชา
ทั้งยังสามารถรับชำระค่าสินค้าภายในกัมพูชาได้เช่นกัน
อำนวยความสะดวกให้นักลงทุนไทยได้

นักธุรกิจไทยเชื่อโอกาสขยายการค้ามีสูง

ด้านนาย สมศักดิ์ รินเรืองสิน นายกสมาคมธุรกิจไทยในกัมพูชา
เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ที่เข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชา พบว่า
ชาวกัมพูชาให้การยอมรับในสินค้าไทยสูงมาก
ปริมาณการใช้สินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่า 80-90%
เป็นสินค้าที่ผลิตมาจากประเทศไทย
แต่สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย ทำให้สินค้าจากประเทศอื่น
เช่น เวียดนาม เบียดแทรกตลาดสินค้าในกัมพูชาได้

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการบริโภคสินค้าของประชาชนในประเทศกัมพูชา ณ
ปัจจุบัน มีการผลิตสินค้าใช้เองในประเทศ ในสัดส่วนที่ต่ำมาก
โดยสัดส่วนการบริโภคสินค้า มากกว่า 80%
เป็นการนำเข้าสินค้าเข้ามาบริโภคในประเทศ เพราะเพิ่งเปิดประเทศมาไม่นาน
ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่นักลงทุนไทย
จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าหลากหลายชนิด
มุ่งรองรับความต้องการบริโภคของประชาชนชาวกัมพูชาเป็นหลัก

"ภาพรวม ด้านการลงทุนที่ผ่านมา
นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในกัมพูชาที่เปิดประเทศครั้งแรกเมื่อปี 1991-1992
นั้น ไทยมีสัดส่วนและปริมาณการลงทุนในกัมพูชามากที่สุด
แต่ปัจจุบันปริมาณการลงทุนไทยในกัมพูชา กลับมีสัดส่วนตกลงไปอยู่อันดับที่
5 หรือ 6 ถูกประเทศจีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย และเวียดนาม เบียดแซงไป
เนื่องจาก การลงทุนของจีน เกาหลีใต้ จะใช้ภาครัฐต่อรัฐ
นำหน้าเจรจาการลงทุนให้กับเอกชน
ทั้งมีปริมาณการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมาก ขณะที่ภาคการเมืองไทย
มีจุดอ่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงบ่อย"นายสมศักดิ์ กล่าวและว่า

การเดินทางเยือนกัมพูชา ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรีไทย เป็นโอกาสดีในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
และเสนอให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไป
เป็นผู้นำภาคเอกชนในการกระชับความสัมพันธ์เชื่อมโยงการค้าให้มีปริมาณมาก
ขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น