++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เติมความรู้ให้ “ครูใต้” ภารกิจดับควันปืนที่ปลายด้ามขวาน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    


       ไม่อาจปฏิเสธได้ ว่า ไฟใต้คุกรุ่นมามาหลายปีในแถบจังหวัดชายใต้นั้น หลายครั้งหลายคราเกิดเหตุเหตุการณ์เผาโรงเรียน ครูถูกทำร้าย โรงเรียนจะหยุดการเรียนการสอนอย่างกะทันหัน ทำให้นักเรียนมีเวลาเรียนน้อยลง ส่งผลการเรียนของนักเรียนออกมา “ตกต่ำ” กว่าที่ควรจะเป็น
      
       แน่นอน คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะแก้ไขปัญหาคุณภาพนักเรียนให้ดีขึ้นได้อย่างไร
      
       ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ (ศอ.บต.) จัดโครงการอบรมครู 3 จังหวัดชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจนถึงขณะนี้ได้อบรมมาแล้ว 4 ครั้งด้วยกัน ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาจารย์ที่สอนภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จำนวน 200 คน เข้าคอร์สอบรมเทคนิคการสอนผ่านสื่อสมัยใหม่ พร้อมกันนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายครูเพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สิ่งใหม่ และช่วยให้ครูเหล่านี้รู้สึกผ่อนคลายความเครียดที่สอนอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ภัย
      
       “ตลอดการอบรม อาจารย์จะได้รับโปรแกรมการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ จะแนะนำเว็บไซต์สำคัญๆ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการนำมาบูรณาการในชั้นเรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน”
      
       “พระนาย สุวรรณรัฐ” ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ อธิบายเพิ่มเติมว่า ห้องเรียน เด็กนักเรียนคือ หัวใจของการเรียน การที่จะให้เรียนมีความรู้อย่างเหมาะสม ตามวัย จักต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้จากอาจารย์ผู้สอน ขณะเดียวกัน ผู้สอนต้องใฝ่หาความรู้สิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะวิชาที่ตนเองรับผิดชอบมาสอนนักเรียน
       “เคย ส่งอาจารย์ในพื้นที่มาอัพความรู้ใหม่ๆ มา 3 รุ่น ปรากฏว่าผลการเรียนของนักเรียนระดับมัธยมปลายดีขึ้น แล้วเพื่อให้นักเรียนมีโอกาสเรียนระดับอุดมศึกษา เรามีทุนให้โดยจะเรียนมหาวิทยาลัยแห่งใดก็ได้ หวังว่าเขาเรียนจบแล้วจักได้นำความรู้มาพัฒนาประเทศ หรือถิ่นบ้านเกิดต่อไป” พระนายให้ข้อมูล รวมทั้งบอกด้วยว่าโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพนั้น ได้ใจผู้ปกครองและนักเรียนเป็นอย่างมาก
      
       น.ส.ศิริฬามณี ลีมิง อาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา จังหวัดนราธิวาส เล่าว่า ตนมีประสบการณ์สอนน้อย เพิ่งมาประกอบอาชีพครูเพียง 1 ปีเท่านั้น เมื่อมีโอกาสเข้ารับการอบรมเทคนิคการสอนกับอาจารย์ระดับปรมาจารย์ เชื่อว่าจะได้รับความรู้มากกว่าที่เคยเรียนมา แล้วจะเก็บเกี่ยวความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดไปสอนลูกศิษย์
      
       “แม้ ว่าอาชีพนี้จะเงินเดือนน้อยเมื่อเทียบกับทำงานในบริษัทเอกชน ตนยังคิดเลือกอาชีพแม่พิมพ์แล้วตั้งใจว่า จะเป็นแม่พิมพ์ที่ดี อยากนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาเผยแพร่ให้ลูกหลาน และต้องการให้คนในท้องถิ่นเรียนสูงขึ้น”

   
       ส่วน น.ส.ฮานาดี เบ็ญดุลา อาจารย์สอนวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนอาสุลดินวิทยา จ.ยะลา เล่าให้ฟังว่า สอนวิชาเคมี มา 7 ปีแล้ว พอจะเห็นจุดอ่อนของอาชีพนี้ สื่อการเรียนการสอนมีไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะวิชาเคมีการที่จะให้เด็กเข้าใจอย่างถ่องแท้ จะต้องลงมือทดลองด้วยตัวเอง แต่โรงเรียนมีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์หรือเคมี ที่จะนำทดลองในห้องแล็บไม่ครบ ต้องใช้วิธีการสอนแห้ง นักเรียนบางคนตามทันบ้างไม่ทันบ้าง อีกอย่างการสอนโดยบรรยายหน้าชั้นเรียน นักเรียนจะรู้สึกว่าน่าเบื่อ ไม่มีสิ่งดึงดูดความสนใจ
      
       และการเข้าอบรมครั้งนี้ เชื่อว่าน่าจะมีเทคนิคใหม่มาประกอบการสอน เนื่องจากจะได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำแอนิเมชัน จะรู้จักเว็บไซต์เกี่ยวกับวิชาวิทยาศาสตร์ สามารถนำมาบูรณาการสอนได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่ลูกศิษย์ อีกอย่างวิชาวิทยาศาสตร์ นับว่าเป็นวิชาสำคัญหากลูกศิษย์มีผลการเรียนออกมาดีเขาจะมีโอกาสเข้าศึกษา ต่อสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียง และหวังว่าเขาเรียนจบจะมีงานได้งานดีๆ ทำ
      
       นางรัศณีย์ ใบกาเต็ม อาจารย์วิชาเคมี โรงเรียนสันติศาสตร์ศึกษา จ.สตูล ฉายคุณภาพชีวิครูว่า หากเปรียบเทียบอัตราเงินเดือนครูเอกชน กับครูที่รับราชการ อายุงานเท่าๆ กัน ครูเอกชนรับเงินเดือนต่ำกว่า บางรายได้เงินต่ำกว่าวุฒิเสียด้วยซ้ำไป แถมวันหนึ่งๆ ยังสอนหลายคาบ ยิ่งต้องการให้ลูกศิษย์มีความรู้เข้าใจเนื้อหาที่สอนรวดเร็ว ก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเพื่อซื้อสื่อ หรือซื้ออุปกรณ์บางอย่างมาสร้างเป็นสื่อ
      
       นอกจากนี้ ครูซึ่งเป็นข้าราชการ หรือพนักงานราชการยังมีเบี้ยเสี่ยงภัย ถ้าปฏิบัติงานสอนเพียง 2-3 ปี โดยเฉพาะพื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคใต้จะได้พิจารณาขึ้นเงินเดือน 2 ขั้น หรือขั้นครึ่งเป็นอย่างต่ำ
      
       “ครู เอกชนอย่างเราไม่ได้อิจฉา เพียงแต่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลชีวิตความเป็นอยู่บ้าง เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนเอกชน ซึ่งครูถูกเอารัดเอาเปรียบ และส่วนใหญ่ดิ้นรนพยายามสอบบรรจุทุกครั้งที่มีการเปิดสอบ ส่วนตนพอใจและรักอาชีพครู ถ้ามีโอกาสก็อยากจะเปลี่ยนฐานะจากครูเอกชนเมาเป็นข้าราชการบ้าง แต่คงไม่เปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น เพราะรักและตั้งใจไว้ว่าจะยึดอาชีพเรือจ้างจนลมหายใจสุดท้าย”รัศณีย์เผยความในใจ
      
       เมื่อถามถึงโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ อาจารย์หลายท่าน ตอบทิศทางเดียวกันว่า “ดี” เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง รวมทั้งช่วยครูมีสื่อการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ปกครอง นักเรียน สถานศึกษา ต้องการ นั่นคือ “ตำราสอนศาสนาอิสลาม” เนื่องจากรัฐบาลให้เฉพาะวิชาพื้นที่ 8 กลุ่มสาระ และคงลืมไปว่าสถานศึกษาภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
      
       ครั้นถามอาจารย์ว่ากลัวจะถูกทำร้ายหรือไม่ อาจารย์ตอบในทิศทางเดียวกันว่า ไม่กลัว เพราะเกิดและเติบโตที่นี่ อีกอย่างสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงอย่างที่ข่าวนำเสนอ คือ พอมีเหตุการณ์ปุ๊บ สรุปทันทีว่าเกิดจากกลุ่มก่อความไม่สงบ โยงมาสถานการณ์บ้านเมือง ขณะที่บางรายเกิดจากความขัดแย้งส่วนตัว
      
       “สำหรับ การรักษาความปลอดภัยในช่วงเปิดเทอม เราจะมีการจัดระบบความปลอดภัยเพื่อคุ้มครองครูอย่างเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งผมเองหวังว่าสถานการณ์การทำร้ายครูจะดีขึ้น เพราะต้องไม่คิดว่าครูมีอาวุธแค่ชอล์ก ซึ่งให้ความรู้แก่ลูกศิษย์ ไม่มีปืน อาวุธมีคมที่จะไปต่อสู้แต่อย่างใด” พระนาย ให้แง่คิดทิ้งท้าย
      
       รายงานพิเศษ โดย...สุกัญญา แสงงาม

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000046706

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น