++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สุธาสินี น้อยอินทร์ เธอผู้แต่งงานกับมะเร็ง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์



       หาก ถามว่า อะไรคือสิ่งที่มนุษย์กลัวมากที่สุดในชีวิต หรือกลัวจนกระทั่งรู้สึกว่ามันวิ่งจู่โจมเข้าปะทะถึงขั้วหัวใจ หลายเสียงให้คำตอบว่าเมื่อรู้ว่าเวลาบนโลกนี้เหลือน้อยเต็มที หรือเมื่อรู้ตัวว่า ความตายกำลังมาเยี่ยมเยียนในไม่ช้า
      
       เธอคนนี้ก็เช่นกัน สุธาสินี น้อยอินทร์ หรือ “แม่ติ๋ว” แห่งบ้านโฮมฮัก จ.ยโสธร สถานที่ที่รับดูแลเด็กๆ ที่ได้รับเชื้อเอชไอวี
      
       เมื่อ 9 ปีก่อนเธอเคยรู้สึกว่าโลกนี้มืดมนไร้ทางออกจากปัญหาสุขภาพ เมื่อรู้ตัวว่ามีก้อนเนื้อสามก้อนแปลกปลอมในร่างกาย ทว่า วันนี้ แม่ติ๋ว ในวัย 53 ปียังคงเป็นผู้หญิงที่ร่าเริง บอกเล่าเรื่องราวของเหล่าลูกๆ อีกกว่า 115 ชีวิตในบ้านโฮมฮักด้วยแววตาและสีหน้าแช่มชื่น
      
       อย่างไรก็ตาม เมื่อใดที่มีคำถามถึงปัญหาสุขภาพที่เคยพานพบ เธอยอมรับว่าเหมือนมีน้ำกรดราดรดที่แผลเดิม กระนั้นเพื่อเป็นวิทยาทานแก่ท่านทั้งหลายที่ยังไม่เป็นหรือ กระทั่งคนที่เพิ่งรู้ตัวว่ามีเพื่อนชื่อเจ้ามะเร็งอยู่ในร่างกาย แม่ติ๋วยินดีที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิตเพื่อสร้างกำลังใจ ดันให้กำลังกายก้าวต่อไป

แม่ติ๋วกับลูกๆ บ้านโฮมฮัก
#        เมื่อมะเร็งอยู่กับฉัน
      
       เท้าความให้เห็นภาพเมื่อ 9 ปีก่อน แม่ติ๋วมีอาการปวดท้อง ท้องอืด แก๊สในท้องมากผิดปกติ แต่เจ้าตัวยังคิดว่าเกิดจากข้าวเหนียวที่กินๆ อยู่ เป็นเช่นนี้หลายเดือนกระทั่งวันหนึ่งเป็นลมหมดสติถึงขั้นต้องพึ่งมือหมอ และจากนั้นเองเธอก็รู้ว่าเป็นมะเร็ง
      
       แม่ติ๋ว เล่าให้ฟังว่า คุณพ่อเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ประกอบกับช่วงหนึ่งที่เธอดื่มเหล้าหนักมาก และมุทำงานให้หนักเพื่อให้ลืมปัญหาบางอย่าง ความเครียดผสมกับการมองโลกเป็นสีดำมืดในช่วงระยะหนึ่ง และเหตุปัจจัยอีกหลายประการที่ทำให้เธอมีมะเร็งในลำไล้ ในระยะเริ่มแรกความสับสนเข้ามาทักทายแต่ไม่มีน้ำตาจากผู้หญิงคนนี้
      
       “ตอนนั้นยอมรับว่าเรากลัว กลัวว่า ลูกๆ จะอยู่อย่างไร กลัวตาย สับสน แต่โชคดีมีเพื่อน เราไม่ได้ถามหมอว่าจะรักษาอย่างไร อยู่ในระยะไหนแล้ว คือตัดสินใจเดินออกมาและหาทางรักษาด้วยตัวเอง เราพึ่งแพทย์ทางเลือก ทำดีท็อกซ์ นวด เล่นโยคะ ทำแบบนี้อยู่ 6 เดือน ใจก็ยังไม่ดีขึ้น เราฝังเข็มอีก 9 เดือน ตอนนั้นเป็นช่วงที่คิดได้ว่า ถ้านอนรอความตายเราก็จะตาย ก็เลยกลับบ้าน คิดได้ว่าเราต้องอยู่เพื่อคนที่รักเรา พอใจแข็งแรงแล้วกายก็เริ่มก้าวเดิน” แม่ติ๋วบอกเล่าเหตุการณ์และความรู้สึกที่ต้องเผชิญในขณะนั้น

แม่ติ๋วกับลูกๆ บ้านโฮมฮัก
#        เราคงต้องเป็นแฟนกัน
      
       หญิงหัวใจแกร่งแห่งบ้านโฮมฮัก แนะนำคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรับฟังเรื่องราวการเจ็บป่วยว่า ใจต้องนิ่ง เมื่อทราบผลตรวจ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งหรือโรคอื่นใดก็ตามทีต้องรีบซักถามคุณหมอว่ามีวิธีการใด รักษาให้หายได้บ้าง และสุดท้ายผู้ป่วยก็ต้องเลือกสักวิธีทางหนึ่ง
      
       และสำหรับแม่ติ๋วเลือกที่จะใช้สมุนไพร ซึ่งเจ้าตัวเชื่อว่านี่คือ โภชนบำบัด
      
       “เครื่องต้มยำในบ้านนี่แหละของดี พริก กระเทียม ข่า ตะไคร้ ส่วนหนึ่งที่เราแวบตรงนี้มาได้เพราะความรู้ที่คุณแม่คุณยายให้มา มันดีทั้งกับเราที่เป็นมะเร็ง และกับลูกๆ ที่บ้านซึ่งมีเชื้อเอชไอวี”
      
       แม่ติ๋ว บอกว่า ในสองปีแรกของการอยู่ร่วมกับโรค อึดอัด และไม่อยากรู้จักเจ้าเชื้อนี้สักเท่าไหร่ หากแต่เมื่อสติกลับคืนมา ฉับพลันทันใดจากศัตรูก็กลายเป็นมิตร และการอยู่ร่วมกันนานวันเข้า ก็คล้ายว่าจะรู้ใจกัน และกลายเป็นเหมือนคู่แต่งงานที่ร่วมชีวิตกันมา 9 ปีไปเสียแล้ว นี่คือผลจากทางเลือกที่จะรู้เท่าทันโรคด้วยตัวเอง ใช้ศาสตร์แพทย์ธรรมชาติบำบัดผนวกกับการฟื้นฟูจิตใจจากธรรมะและสมาธิ
      
       สำหรับโภชนบำบัดในแบบของแม่ติ๋วนั้นดูจะไม่แตกต่างจากคำแนะนำของหมอ เท่าใดนัก คือ ไม่กินเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก กินเนื้อปลาพอประมาณ เน้นผัก ผลไม้ แต่มีข้อแม้ว่าทุกอย่างที่กินต้องปราศจากสารเคมี นอกจากนี้ยังต้องรักษาสมดุลระหว่าง กาย ใจ และอารมณ์ เพื่อที่จะได้มีสุขในการกิน
      
       “ถ้าคิดว่าคู่ของเราไม่ชอบกินอะไร หรือกินอะไรแล้วทำให้เขาโกรธ เราก็ไม่กิน เขาไม่ชอบอะไรเราก็ไม่ทำ แต่ว่าสุดท้ายหากเราเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ถ้าจะเป็นลมอะไรอยู่ตรงหน้าก็ต้องคว้าไว้ก่อน” แม่ติ๋วเล่าด้วยสีหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม
      
      
# หนึ่งวันฉันและเธอ
      
       แน่นอน สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่า หลายคนคงอยากรู้ นั่นก็คือกิจวัตรประจำวันของแม่ติ๋ว ทุกวันนี้ อันที่จริงต้องบอกว่าตั้งแต่เมื่อประมาณ 7 ปีที่ผ่านมามีอะไรบ้าง
      
       หลังกรำนานกว่า 8 ชั่วโมง เวลา 4 ทุ่มคือห้วงแห่งการฮันนีมูนผ่อนคลายตัวเอง
      
       แม่ติ๋ว เล่าว่า เธอจะปิดห้องนอนตั้งน้ำร้อนและนอนแช่จนรู้สึกว่าหายจากอาการปวดเมื่อยต่างๆ จากนั้นก็จะปฏิบัติการดีท็อกซ์ล้างพิษวันต่อวันปล่อยของเสียจนกว่าจะไม่มี แก๊สในท้อง แม้ว่าจะได้รับคำแนะนำว่าการสวนทวารล้างพิษนี้อาจส่งผลบางอย่างต่อร่างกายใน ทางที่ไม่ดี แต่วิถีที่ยาวนานทำให้เธอละจากวิธีการนี้ไม่ได้
      
       “เราไม่ได้แนะนำให้ทุกคนไปทำตาม ถ้าบอกได้ก็จะบอกว่าใครที่ยังไม่ได้ทำขอให้พิจารณาให้ดี ถึงอย่างไรก็ต้องสอบถามจากคุณหมอก่อน ซึ่งแม่ติ๋วทำแบบนี้มานานแล้วมันตัดยาก” แม่ติ๋วเล่าและเป็นอีกครั้งที่ได้เห็นรอยยิ้มจากผู้หญิงคนนี้

รศ.นพ.สถาพร มานัสสถิต
       หลังจากดีท็อกซ์แล้วก็ถึงเวลาอบสมุนไพร ซึ่งมาจากสวนหลังบ้านโฮมฮัก ต้นไม้ที่มีสรรพคุณทางยาบวกกับพลังรักของเด็กๆ ที่ร่วมปลูก ส่งผลให้แม่ติ๋วมีพลังก้าวต่อในทุกๆ วันที่ลืมตา กิจกรรมบำบัดฟื้นฟูเหล่านี้สิ้นสุดราวๆ ตี 3 แม่ติ๋วนอนหลับอย่างเต็มตาราว 2 ชั่วโมง ก่อนจะตื่นมาทำแบบเดียวกันอีกครั้งตอน เช้าตรู่ และแล้วเสร็จในช่วงสาย ก่อนจะเริ่มปฏิบัติภารกิจ
      
#        จากคนอื่นคนไกล

      
       รศ.นพ.สถาพร มานัสสถิต หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้ความเห็นเรื่องการรักษามะเร็งว่า ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากในการรักษามะเร็ง ในบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมะเร็งสำไส้นั้นถือเป็นชนิดกลางที่ไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก 80 เปอร์เซ็นต์มีสิทธิหาย ยิ่งถ้าอยู่ในระยะเริ่มต้นสามารถหายขาดได้ ทั้งนี้คนไข้ต้องมีกำลังใจที่ดี หากปฏิเสธที่จะรักษาเสียแล้วก็เท่ากับเป็นการเสียโอกาส
      
       รศ.นพ.สถาพร บอกว่า สำหรับกรณีของแม่ติ๋วนั้น ถือว่าเป็นเคสที่คนไข้ได้เลือกแล้วว่าจะปฏิบัติตัวและรักษาอย่างไร แต่เป็นที่สังเกตว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับการมีชีวิตอยู่ คือ หัวใจที่เข้มแข็งของคนไข้ แต่ใช่ว่าจะเป็นเช่นนี้ได้ทุกคน เพราะมะเร็งกับหัวใจสัมพันธ์กัน หากหัวใจยอมรับโรคได้ก็เท่ากับหายแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม อีกครึ่งหนึ่งต้องพึ่งมือหมอด้วย
      
       “ผมอยากแนะนำว่าเราต้องพูดคุยกับหมอ หาแนวทางการรักษาร่วมกัน ถ้าหากมีเปอร์เซ็นต์หายสูงควรรีบทำการรักษา แต่หากมีทางรอดน้อย และคนไข้อยากใช้ชีวิตให้คุ้มหมอจะไม่ห้ามหากจะตัดสินใจเหมือนแม่ติ๋ว” หัวหน้าวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ระบุ
      
       แม่ติ๋วทิ้งท้ายว่า หากคนไข้ไร้ที่พึ่งทางจิตใจเสียแล้วต้องหาจุดที่ยึดมั่นและเชื่อมั่นให้ได้ นั่นคือ คุณหมอ โดยหมอมีหน้าที่ให้ข้อมูลที่เป็นโอกาสให้คนไข้เลือก และท้ายที่สุดผู้ตัดสินใจลิขิตชีวิตของตัวเองนั้น ก็คือ ตัวผู้ป่วยเอง
      
       และนี่คือผู้หญิงที่อยู่กินร่วมกับมะเร็งมาแล้ว 9 ปี ด้วยพลังแห่งรักและการให้โดยแท้จริง...


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000048004

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น