++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การขาดความเคารพตนเองและการขาดความเชื่อมั่น

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน


ข่าวเกี่ยวกับการรับน้องใหม่ของสถาบันแห่งหนึ่ง
จนนำไปสู่ประเด็นปัญหาเรื่องอื้อฉาวของการใช้วิธีการที่ละเมิดต่อสิทธิส่วน
บุคล และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกระบวนกฎหมายอาญาที่เกิดขึ้นเร็วๆ
นี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่มีมาแล้วหลายทศวรรษ
การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการเลิกรับน้องใหม่เป็นเรื่องที่ง่าย
แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ง่ายเกินไป
เพื่อจะเข้าใจปัญหาและหาทางแก้ไขจำเป็นที่จะต้องเจาะลึกถึงมูลเหตุอันแท้
จริง การรับน้องใหม่นี้เป็นหนึ่งในสองสิ่งที่ผู้เขียนให้ความสนใจมาตลอดชีวิต

หนึ่งในสองเรื่องก็คือ
การติดลูกกรงหน้าต่างและไม่มีบานที่เปิดได้โดยไขกุญแจเนื่องจากมีกุญแจสายยู
ผลสุดท้ายข่าวที่เกิดขึ้นซ้ำซากที่คนทั้งครอบครัวถูกไฟครอกตายก็ยังมีอยู่มา
จนปัจจุบันนี้ และเรื่องดังกล่าวนี้ผู้เขียนได้ยินเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่จังหวัดสุราษฎร์
ธานีเมื่อประมาณ 50 กว่าปีที่แล้ว
และหลังจากนั้นผู้เขียนได้เขียนบทความซ้ำแล้วซ้ำอีก
แต่เหตุการณ์ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
ในเรื่องการรับน้องใหม่นั้นในขณะที่ผู้เขียนเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์ ได้มีนักศึกษาคณะใหม่ขอให้มีการรับน้องใหม่ก็มีหลายคนเห็นด้วย
แต่ในที่ประชุมสภาครั้งนั้นผู้เขียนยืนกรานไม่เห็นด้วย
โดยอ้างเหตุผลที่สำคัญอย่างยิ่งยิ่งว่า

ประการแรก การรับน้องใหม่ไม่มีความชอบธรรม
สะท้อนถึงความไม่เสมอภาค ประการที่สอง
เป็นการส่งเสริมให้มีการสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบเผด็จการ ประการที่สาม
เป็นการสร้างประเพณีที่ขัดต่อคำขวัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือ เสรีภาพ
สมภาพ และภราดรภาพ

การรับน้องใหม่ที่ถูกต้องนั้นคือการต้อนรับผู้เข้ามาสู่สถานการศึกษาเป็น
ครั้งแรก รุ่นพี่ซึ่งมีประสบการณ์และอาวุโสน่าจะมีการปรบมือต้อนรับให้น้องใหม่และให้
แนะนำตัวเอง และรุ่นพี่ก็อาจจะกล่าวทำนองว่า
เรามาอยู่ร่วมสถาบันกันแล้วซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของรุ่นน้องที่สอบผ่าน
เข้ามาได้ แต่พึงตระหนักว่าการเข้ามาศึกษามาเพื่อศึกษาหาความรู้ให้เกิดภูมิปัญญา
นำความรู้ไปประกอบอาชีพเลี้ยงดูครอบครัว
แต่ที่สำคัญเพื่อเป็นบุคลากรอันสำคัญของสังคมและประเทศชาติที่จะต้องมีส่วน
ในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ
เพื่อนำชาติไปสู่ความพัฒนาและเจริญรุ่งเรืองโดยไม่น้อยหน้าใคร

ในการกล่าวเช่นนี้เป็นการให้ความสำคัญกับการศึกษาต่อส่วนตัวและต่อสังคมโดย
รวม และนอกจากนั้นรุ่นพี่ก็อาจจะกล่าวว่ามีอะไรก็ตามที่ขัดข้องใจ
เดือดเนื้อร้อนใจทั้งเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องการเรียน
รุ่นพี่หรือรุ่นอาวุโสยินดีให้ความเกื้อกูล ปรึกษาหารือได้ทุกเรื่อง
และจากนั้นก็อาจจะรับประทานอาหารพูดคุยรู้จักกัน
หรือแสดงความสามารถด้วยการร้องเพลง นี่คือการรับน้องใหม่ที่ถูกต้องที่สุด

แต่การรับน้องใหม่ที่ผ่านๆ มามีการใช้อำนาจรุ่นพี่
ตวาดข่มขู่รุ่นน้องอย่างกับทาส บังคับให้คลานกับพื้น
หรือกินข้าวต้มกับจิ้งจก หรือบางครั้งก็กินข้าวต้มกับเนื้อสุนัข
มีการจับโยนลงน้ำถ้ากระด้างกระเดื่อง หรือจับโยนบก
เหตุผลทั้งหมดก็อ้างว่าเพื่อให้รู้จักการเคารพอาวุโส มีความสามัคคี
และรู้จักอดทนอดกลั้น จนบางครั้งรุ่นน้องได้รับบาดเจ็บและสาหัส
และบ่อยครั้งเป็นอันตรายถึงกับชีวิต หลายคนต้องลาออกไป

ประเด็นต้องกล่าวให้กระจ่างซึ่งผู้เขียนได้เคยพูดมาแล้วหลายครั้ง

ประการที่หนึ่ง รุ่นพี่เข้ามาศึกษาก่อนคือผู้ซึ่งเกิดก่อน
อายุมากกว่า หรือสอบเข้ามาได้ก่อน แต่รุ่นพี่ไม่มีอำนาจอะไรทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นทางกฎหมายหรือโดยประเพณี
เพราะประเพณีเช่นนี้เป็นประเพณีที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี
ของสังคม อำนาจจากประเพณี (traditional authority) ของแมกซ์ เวเบอร์
นั้นจะต้องเป็นประเพณีที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อคนทั่วไป
และต้องมีธรรมแห่งอำนาจ (moral authority)
ประเพณีรับน้องที่เกิดอันตรายและนำไปสู่ความเสียหายนี้รุ่นพี่ไม่มีอำนาจและ
ไม่มีกฎหมายใดให้สิทธิไว้ ดังนั้น
จึงไม่มีสิทธิและอำนาจทั้งตามกฎหมายและตามประเพณี

ประการที่สอง การตะเพิดใส่รุ่นน้อง
การสร้างความยิ่งใหญ่โดยทำให้รุ่นน้องเกิดการกลัวหงอ ตัวสั่นเหมือนลูกนก
ด้วยการตวาดและตะคอก คุกคามทำร้ายร่างกาย
เป็นการสร้างวัฒนธรรมสังคมและวัฒนธรรมการเมืองแบบเผด็จการ
รุ่นน้องที่ไม่มีความคิดก็จะเดินตามแนวความคิดของรุ่นพี่
เกิดการสืบทอดประเพณีอันเลวทรามที่ไม่ก่อประโยชน์อันใดต่อจิตใจ
ต่อทางจิตวิทยา และต่อสังคมโดยรวม
นอกจากความอัปลักษณ์ของผู้ปฏิบัติและความน่าสงสารของผู้ถูกปฏิบัติ

ประการที่สาม
การกระทำของรุ่นพี่ในลักษณะรุนแรงดังกล่าวที่กล้าแม้จะพูดว่า
การบังคับให้กินพริก กินกระดาษเป็นเรื่องธรรมดานั้น
แสดงว่าไม่เข้าใจถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
มนุษย์ทุกคนนอกจากเสมอภาคต่อหน้ากันทางกฎหมาย (equality before the law)
และมีความเสมอภาคทางการเมือง (one man one vote)
ยังมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ (human dignity)
ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
การละเมิดต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์สะท้อนถึงความไม่เห็นถึงศักดิ์ศรี
ของผู้ถูกกระทำ ผู้ใดตระหนักถึงความมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของตน
ย่อมไม่ทำลายความมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

ประการที่สี่ รุ่น พี่ที่ใช้อำนาจที่ขาดความชอบธรรม
กระทำต่อรุ่นน้องจนได้รับความบาดเจ็บหรือเสียชีวิตนั้น
เป็นผู้ซึ่งก่ออาชญากรรมต่อสังคมและต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
และต่อมนุษยชาติโดยไม่รู้ตัว ที่เห็นได้เด่นชัดคือ
เป็นการสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบเผด็จการ
ทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ยังหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกฎหมายอาญาคือทำร้ายร่างกาย
ซึ่งในกฎหมายรวมถึงการทำร้ายจิตใจด้วย
และถ้าถึงแก่ความตายก็อาจมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา
การรับน้องใหม่เช่นนี้คือการประทุษร้ายต่อมนุษยชาติ
ต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และต่อกฎหมายของบ้างเมือง

คำถามคือ อะไรเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดสภาพดังกล่าว
คำตอบก็อาจจะอยู่ที่ว่า
การอบรมในครอบครัวที่บุพการีอาจจะไม่เข้าใจถึงความสำคัญของประเด็นในการอบรม
ลูกหลานให้เป็นคนมีความเคารพตนเอง และให้เกียรติผู้อื่น
ซึ่งอาจจะเกิดจากความไม่รู้หรือความยากจน ด้อยการศึกษาหรือศึกษาครึ่งๆ
กลางๆ ของบุพการี ที่สำคัญที่สุด
คือการไม่เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาบุคลิกภาพที่เป็นอิสระด้วยการรู้จักคิด
ชั่งใจระหว่างความยุติธรรมและไม่ยุติธรรม ความดีความเลว ที่เรียกว่า
อาตมันปัจเจกภาพ (selfhood)
คนที่ไม่มีอาตมันปัจเจกภาพจะขาดความเชื่อมั่นในตนเอง (self-confidence)
คนที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเองจะไม่เคารพตนเอง (self-esteem)

และเมื่อถูกกดดันโดยครอบครัว โรงเรียน
และสังคมทั่วไปก็นำไปสู่ปมด้อย
เมื่อไม่เคารพตนเองและมีปมด้อยก็พยายามหาปมเด่นเพื่อให้เกิดความเคารพตนเอง
ด้วยการไม่เคารพผู้อื่น ไม่ให้เกียรติผู้อื่น
ไม่เข้าใจและตระหนักถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค
สิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐาน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความบกพร่องอย่างยิ่งของกระบวนการกล่อมเกลา
เรียนรู้ทางสังคม
ซึ่งส่งผลต่อวัฒนธรรมสังคมและวัฒนธรรมการเมืองต่อการอบรมสั่งสอนในครอบครัว
และสถาบันการศึกษา จนผลออกมาเป็นรูปธรรมอันอัปลักษณ์ที่เป็นข่าวเร็วๆ นี้

เมื่อทราบสาเหตุอย่างแท้จริง
ทางแก้ก็คงจะมาจากการย้อนกลับไปสู่ต้นเหตุของปัญหา
และนี่เป็นสิ่งที่ยากที่สุด
เพราะเมื่อหน่วยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือครอบครัวมีความบกพร่อง พิกลพิการ
จากความบกพร่องของพ่อแม่ซึ่งเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมและการศึกษา
ค่านิยมและปทัสถานที่ผิดวิปริตมาตั้งแต่ต้น
ก็ย่อมส่งผลไปยังลูกหลานและสังคมโดยรวมตามกฎแห่งกรรมคือเหตุและผล

การประณามรุ่นพี่ที่ทำกับรุ่นน้องว่าไม่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้
ก็คงมีเหตุผลในตัวของตัวเอง
แต่จะไม่เกิดประโยชน์อะไรถ้าไม่สามารถถามหาสาเหตุที่แท้จริง
รุ่นพี่ที่ทำกับรุ่นน้องก็เป็นเหยื่อของระบบถูกกระทำโดยรุ่นพี่เดิม
รุ่นพี่เดิมก็เป็นเหยื่อของสภาพสังคมที่เละเทะฟอนเฟะที่เริ่มจากสถาบันครอบ
ครัวและสถาบันการศึกษา
และรุ่นน้องน่าจะมีความคิดที่จะระงับไม่ให้วัฏจักรดังกล่าวดำเนินต่อไป
ซึ่งก็ปล่อยมาเนิ่นนานจนกระทั่งผลสุดท้ายจึงต่อสู้ด้วยการขัดขืนไม่เห็นด้วย
กับวิธีการดังกล่าวดังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ประเด็นสำคัญคือ ถ้ารุ่นน้องขาดอาตมันปัจเจกภาพ ขาดความเชื่อมั่น
ขาดความเคารพตนเอง
รุ่นน้องบางส่วนอาจจะยินดีเป็นส่วนหนึ่งของระบบอันเลวร้ายโดยไม่รู้ตัว
และเป็นตัวจักรสำคัญในการสืบทอดให้วงจรครบวงหมุนเวียนเปลี่ยนไปโดยไม่สิ้น
สุด และสภาพดังกล่าวก็อาจไม่ยกเว้นกับครูบาอาจารย์ที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวมา

ความสำเร็จของการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับหลายตัวแปร
และตราบเท่าที่สังคมไทยยังมีปรากฏการณ์เช่นนี้ สะท้อนถึงค่านิยม ปทัสถาน
สภาวะทางจิตใจ (mindset) ของประชาชนจำนวนมาก
ก็อย่าหวังเลยว่าการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จ
เพราะตัวแปรสำคัญที่สุดคือวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยไม่สามารถพัฒนา
ขึ้นมาได้ตั้งแต่หน่วยสำคัญที่สุดอันเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคมคือครอบครัว

พื้นฐานของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคือ
ประชาชนต้องมีอาตมันทางการเมืองแบบประชาธิปไตย (democratic political
self) ซึ่งหมายถึงการมองตัวเองว่ามีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค
มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความเคารพตนเอง ให้ความเคารพผู้อื่น
รักษาสิทธิเสรีภาพของตนเอง เคารพและต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้อื่น ฯลฯ

อาตมัน ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากการมีอาตมันทางการ
เมืองแบบปัจเจกภาพ (selfhood) และการเคารพตนเอง (self-esteem)
ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะสร้างขึ้นได้ภายใต้สภาวะทางวัฒนธรรม
และกระบวนการกล่อมเกลาเรียนรู้ที่มีอยู่ในสังคมขณะนี้
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000068384

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น