++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

บีโอไอ:ลอจิสติกส์...ปัจจัยตัดสินการแพ้ชนะในสงคราม

โดย ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์


ลอจิสติกส์นับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการตัดสินแพ้ชนะในสงคราม
ผู้เชี่ยวชาญถึงกับกล่าวว่า "สัจธรรมสมัยใหม่ของสงคราม คือ
มือสมัครเล่นจะถกเถียงกันในเรื่องยุทธวิธี
ขณะที่มืออาชีพจะถกเถียงกันในเรื่องลอจิสติกส์" (A modern axiom of war
is that amateurs will discuss tactics and professionals will discuss
logistics.) โดยลอจิสติกส์สามารถตัดสินการแพ้ชนะของสงครามตั้งแต่ยังไม่ได้ยิงกระสุนนัด
แรกด้วยซ้ำ

ตัวอย่างใกล้ตัวของประเทศไทย คือ ปัญหาภาคใต้
ซึ่งการโจมตีของผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาในด้านลอจิสติกส์คือ
การโจมตีในเส้นทางขนส่งในการส่งครูเพื่อไปสอนยังโรงเรียน
ซึ่งนับว่าเป็นจุดอ่อนที่ทางรัฐบาลแก้ไม่ตก
ต้องเดินทางตามยถากรรมโดยใช้รถโดยสารซึ่งไม่ปลอดภัยเมื่อถูกโจมตีทั้งระเบิด
หรือกระสุนปืน โดยไม่มีรถหุ้มเกราะแต่อย่างใด

สำหรับกรณีของทหารสหรัฐอเมริกา
ในสงครามอิรักก็เผชิญกับปัญหาคล้ายคลึงกันกับของประเทศไทย
โดยเผชิญกับการโจมตีในเส้นทางลอจิสติกส์ ทหารสหรัฐฯ
ต้องเสียชีวิตจากการโจมตีในรูปแบบนี้เป็นคิดสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 63
ของการสูญเสียชีวิตทั้งหมด ดังนั้น กองทัพสหรัฐฯ
ได้ทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อลดการสูญเสีย
ชีวิต เป็นต้นว่า
ได้วิเคราะห์พบว่ารถฮัมวี่ที่มีท้องเรียบขนานไปกับพื้นถนน
ไม่สามารถทนทานต่อแรงระเบิดได้ จากนั้นกองทัพสหรัฐฯ
ได้ปรับปรุงรถบรรทุกขนาดใหญ่ นอกจากนี้
ยังได้เสริมเกราะเพิ่มเติมให้แก่รถบรรทุกที่มีอยู่แล้วเพื่อให้ทนทานต่อแรง
ระเบิดและการยิงมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น
บางส่วนได้เปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกแบบสามารถคุ้มครองจากทุ่นระเบิดและการโจมตี
(Mine-Resistant Ambush-Protected vehicles - MRAP)
ที่มีเกราะหนากว่าและท้องรถยนต์เป็นรูปตัว V
ทำให้สามารถทนทานต่อแรงระเบิดมากกว่ารถยนต์แบบฮัมวี่เป็นอย่างมาก ดังนั้น
แทนที่จะเน้นสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ที่มีราคาแพงเหมือนกับกองทัพของบาง
ประเทศ กองทัพสหรัฐฯ
ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการสั่งซื้อรถยนต์แบบ MRAP
เป็นจำนวนมากมายถึง 15,000 คัน มูลค่า 22,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ
800,000 ล้านบาท หรือคันละประมาณ 50 ล้านบาท

กองทัพสหรัฐฯ กำหนดให้โรงงานรีบเร่งผลิตรถยนต์ MRAP
ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ
และบางส่วนได้ขนส่งโดยเร่งด่วนทางเครื่องบินไปยังอิรัก ทั้งนี้
นับถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ได้ส่งไปยังอิรักแล้วเป็นจำนวนมากกว่า 10,000
คัน ทำให้ในระยะหลังสามารถลดการสูญเสียกำลังพลลงไปได้มาก

สำหรับในประวัติศาสตร์
มีสงครามจำนวนมากมายที่ตัดสินการแพ้ชนะโดยปัจจัยในด้าน
ลอจิสติกส์ เป็นต้นว่า
สงครามระหว่างกองทัพของพระเจ้านโปเลียนมหาราชของฝรั่งเศสและกองทัพรัสเซีย
เมื่อปี 2355 พระเจ้านโปเลียนมหาราชได้จัดเตรียมไพร่พลมากถึง 600,000 คน
เพื่อต่อสู้กับกองทัพรัสเซียซึ่งมีกำลังพลน้อยกว่า คือ 488,000 คน
รวมถึงได้วางแผนในด้านลอจิสติกส์โดยใช้ระบบคลังสรรพาวุธที่จัดส่งเสบียง
เช่น ขนมปังกรอบ แป้งสาลี ข้าวโอ๊ต ฯลฯ ไปล่วงหน้า
เพื่อรอทหารที่จะเดินทางไปถึงในภายหลัง

แต่กองทัพนโปเลียนกลับเผชิญปัญหาในด้านลอจิสติกส์อย่างคาดไม่ถึง
โดยถนนหนทางของรัสเซียยังด้อยพัฒนา
ทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำหนักกองเกวียนที่ใช้ขนส่งยุทธปัจจัยจำนวนมาก
มายมหาศาลโดยหน่วยส่งกำลังบำรุงได้ นอกจากนี้
ยังต้องเผชิญกับภูมิอากาศหิมะตกหนัก
ทำให้ไม่สามารถหาหญ้าแห้งมาเลี้ยงม้าที่ใช้ในการขนส่ง
จึงส่งผลทำให้ม้าที่ใช้ในการขนส่งต้องอดอยาก และล้มตายเป็นจำนวนมาก

แม้ว่ากองทัพนโปเลียนจะสามารถบุกยึดกรุงมอสโคซึ่งเป็นเมืองหลวงของ
รัสเซียได้อย่างง่ายดาย แต่เนื่องจากขาดแคลนเสบียงอาหาร
ทำให้ทหารประสบกับความอดอยากหิวโหย ขาดขวัญกำลังใจ
และเจ็บป่วยล้มตายไปเป็นจำนวนมาก จึงพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ
สูญเสียกำลังพลไปเกือบทั้งหมดในสงครามครั้งนั้น

สำหรับสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีบุกรัสเซียเมื่อปี 2484
ใช้กำลังทหารมากมายถึง 3 ล้านคน
ในช่วงแรกสามารถรุกคืบหน้าได้อย่างรวดเร็ว
และทำลายกองทัพของรัสเซียได้เป็นจำนวนมาก
แต่ในที่สุดกลับพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ โดยสาเหตุสำคัญ คือ ด้านลอจิสติกส์
กล่าวคือ ยิ่งกองทัพเยอรมนีถลำลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียมากขึ้นเท่าใด
ก็ยิ่งยุ่งยากในการส่งกำลังบำรุงมากขึ้นเท่านั้น
เนื่องจากถนนในรัสเซียเป็นแบบลาดยางที่สามารถใช้ได้ทุกฤดูกาลเพียงแค่
65,000 กิโลเมตร ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงมีฝนตกในรัสเซีย
ทำให้ถนนมีสภาพเป็นโคลนตม ทำให้ยากในการขนส่งทางถนน

แม้สถานการณ์ในด้านลอจิสติกส์เริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเริ่มฤดูหนาว
ทำให้พื้นดินแข็งแรงพอสำหรับรองรับรถบรรทุกสำหรับการขนส่งทางถนน
แต่ก็สายไปแล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ระบบลอจิสติกส์ของเยอรมนีไม่สามารถขนส่งเสื้อกันหนาว
ให้กับทหารที่อยู่แนวหน้าได้
ทำให้ทหารเยอรมนีต้องเผชิญกับฤดูหนาวอันหฤโหดของรัสเซีย
ซึ่งบางครั้งอุณหภูมิลดต่ำลงถึง -25 ถึง -30 องศาเซลเซียส
ส่งผลทำให้กองทัพทหารเยอรมนีที่ประชิดกรุงมอสโคต้องสูญเสียกำลังพลจากอากาศ
อันหนาวเหน็บเป็นจำนวนมากถึง 5 เท่า ของกำลังพลที่เสียชีวิตจากการรบ

สำหรับในสงครามเกาหลี
ในช่วงแรกกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนต้องประสบปัญหาอย่างมากในด้านลอจิสติกส์
โดยยิ่งบุกลึกห่างจากพรมแดนจีนมากขึ้นเท่าใด
ก็ยิ่งประสบปัญหามากขึ้นเท่านั้น
เนื่องจากการขนส่งยุทธปัจจัยต้องเผชิญกับการทิ้งระเบิดของเครื่องบิน
พันธมิตร โดยในช่วง 7 เดือนแรกของสงคราม
รถบรรทุกของจีนถูกทำลายจากเครื่องบินสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากกว่า 3,000 คัน

ปัญหาสำคัญของกองทัพจีนไม่ใช่ความเข้มแข็งของทหารสหรัฐฯ
แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับสามารถรุกโจมตีได้อย่างเข้มแข็งจนประสบผลสำเร็จ
ทั้งนี้ปัญหาที่จีนต้องเผชิญคือ
ปัญหาทางด้านลอจิสติกส์ที่ทำให้ไม่สามารถเผด็จศึกเอาชนะทหารสหรัฐฯ ได้
บางครั้งเมื่อยึดพื้นที่ได้แล้ว ต้องถอนทหารกลับมา
เนื่องจากมีปัญหาไม่สามารถส่งยุทธปัจจัยให้กับทหารในแนวหน้า
ถึงกับมีการกล่าวกันว่าปัญหาสำคัญที่สุดของกองทัพจีนในช่วงนั้นมี 4
ประการ คือ ทหารไม่มีอาหารรับประทาน ทหารไม่มีกระสุนสำหรับยิง
ทหารไม่มีเสื้อกันหนาว และเมื่อทหารได้รับบาดเจ็บ
ไม่สามารถส่งกลับไปยังแนวหลังเพื่อรักษาพยาบาลได้

จากปัญหาข้างต้น
ในบรรดาทหารจีนที่เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ประมาณ 400,000 คน
มีสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ที่เสียชีวิตจากการสู้รบ ส่วนที่เหลืออีก 2 ใน 3
ต้องล้มตายโดยไม่เกี่ยวกับการสู้รบแต่อย่างใด
ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความอดอยากเนื่องจากการขาดแคลนอาหาร
หรือมิฉะนั้นก็หนาวตายเนื่องจากขาดแคลนเครื่องนุ่งห่ม
เนื่องจากในประเทศเกาหลี ช่วงฤดูหนาวมีอุณหภูมิลดต่ำลงถึง -30
องศาเซลเซียสในเวลากลางคืน

เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น
กองทัพจีนได้ก่อตั้งกองบัญชาการหน่วยส่งกำลังบำรุงขึ้น
พร้อมกับแต่งตั้งให้นายพัน Hong Xuezhi
ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการหน่วยส่งกำลังบำรุง
ซึ่งสร้างความไม่พอใจกับตัวเขาเป็นอย่างมาก
โดยเขาต้องการเป็นผู้บัญชาการทหารที่สู้รบอยู่ในแนวหน้า
และดูหมิ่นดูแคลนภารกิจเกี่ยวกับการส่งกำลังบำรุงว่าเป็นงานหลังฉากที่ไม่มี
ชื่อเสียงเกียรติยศเนื่องจากทำงานอยู่แนวหลัง แต่ก็ได้ยอมรับตำแหน่งนี้
โดยมีข้อแม้ว่าภายหลังสงคราม จะต้องย้ายออกจากหน่วยงานส่งกำลังบำรุงนี้

ภายหลังรับตำแหน่งผู้บังคับบัญชาหน่วยส่งกำลังบำรุง
เขาได้ดำเนินยุทธวิธีแบบใหม่ๆ เป็นต้นว่า

ประการแรก
เร่งก่อสร้างเส้นทางลอจิสติกส์ที่สามารถป้องกันการทิ้งระเบิดของข้าศึก
ประกอบด้วยเครือข่ายอุโมงค์ 200 กิโลเมตร
เส้นทางที่อยู่ในรูปคูและสนามเพาะอีก 650 กิโลเมตร
รวมถึงก่อสร้างคลังอาวุธและยุทธปัจจัยใต้ดิน
โดยเฉพาะบริเวณเหมืองแร่เก่าที่สามารถพัฒนาขึ้นได้ง่าย

ประการที่สอง เน้นการขนส่งในเวลากลางคืนเป็นหลัก
เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจพบของข้าศึก โดยช่วงกลางวัน
ทหารและรถบรรทุกจะหลบอยู่ในอุโมงค์หรือสนามเพาะ

ประการที่สาม ระดมกำลังทหารช่างและมวลชนจำนวนมากหลายแสนคน
ทำหน้าที่ดูแลและซ่อมแซมเส้นทางส่งกำลังบำรุง ทั้งถนน สะพาน ทางรถไฟ
ให้สามารถกลับมาใช้ขนส่งได้อย่างรวดเร็ว
ภายหลังการโจมตีทิ้งระเบิดของข้าศึก

จึงทำให้สถานการณ์การสู้รบของจีนปรับตัวดีขึ้นนับตั้งแต่กลางปี
2495 เป็นต้นมา ปัญหาในด้านลอจิสติกส์สามารถแก้ไขได้เป็นผลสำเร็จ
โดยนักประวัติศาสตร์ทางการทหารได้กล่าวว่าความสำเร็จของหน่วยลอจิสติกส์แห่ง
นี้มีบทบาทสูงทำให้กองทัพสัมพันธมิตรไม่สามารถเผด็จศึกในสงครามครั้งนี้ได้
ต้องมาขอเจรจาสงบศึก

กรณีของประเทศไทย
ปัญหาทางด้านลอจิสติกส์ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินแพ้ชนะสงครามในหลายต่อ
หลายครั้ง เป็นต้นว่า เมื่อครั้งสงคราม 9 ทัพในสมัยรัชกาลที่ 1
พระเจ้าปดุงของพม่า ได้จัดกำลังพล 9 ทัพ ประกอบด้วยกำลังพล 144,000 คน
ยกกองทัพมาพร้อมกัน 5 เส้นทาง เมื่อปี 2328 เพื่อมาตีประเทศไทย
ซึ่งขณะนั้นเพิ่งก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เพียงแค่ 3 ปี
และฝ่ายไทยมีกำลังน้อยกว่าคือ มีเพียง 70,000 คน

ทั้งนี้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้เน้นโจมตีจุดอ่อนสำคัญของฝ่ายพม่า
คือ ด้านลอจิสติกส์
โดยทัพไทยไปตั้งค่ายดักพม่าอยู่ที่ชายแดนบริเวณทุ่งลาดหญ้าหน้าด่านเจดีย์
สามองค์ ซึ่งเป็นช่องเขา เปรียบเสมือนเป็นตรอก
ทำให้กองทัพพม่าไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้
ต้องหยุดตั้งค่ายอยู่บริเวณชายทุ่งลาดหญ้า
ส่วนกองทัพหนุนของพม่าต้องหยุดตั้งค่ายเรียงรายกันอยู่ในช่องเขาบรรทัด
ซึ่งเป็นภูมิประเทศที่ทุรกันดาร การคมนาคมขนส่งไม่สะดวก
เนื่องจากต้องขนส่งเสบียงอาหารจากดินแดนพม่าข้ามภูเขาและป่าทึบ
ทำให้ถูกซุ่มโจมตีเพื่อชิงเสบียงระหว่างทางได้ง่าย

จาก นั้นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้ทรงแต่งตั้งพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าขุนเณร
เป็นนายทัพกองโจร คุมทหารจำนวน 1,500 คน ไปคอยตีสกัดเสบียงพม่า
ทำให้กองทัพพม่าที่ทุ่งลาดหญ้าอ่อนกำลังลงเพราะขาดเสบียงอาหาร
และเมื่อข้าศึกอ่อนกำลังลงมากแล้ว ฝ่ายไทยจึงเข้าโจมตี
ทำให้สามารถเผด็จศึกและได้รับชัยชนะอย่างง่ายดาย

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000063936

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น