++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ใกล้ชิดธรรมที่ "ห้องสมุดธรรมะบ้านอารีย์"

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

บรรยากาศในห้องสมุดธรรมะบ้านอารีย์
ถ้าพูดถึงการปฏิบัติธรรม หนังสือธรรมะ พระไตรปิฎก หรืออะไรแนวๆนี้
เชื่อว่าคนส่วนมากคงจะนึกถึง "วัด"
แต่บรรยากาศของวัดอาจทำให้หลายคนเกิดอาการเกร็ง หรือทำตัวไม่ถูก
แม้จะอยากศึกษาธรรมะก็ตามที

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการเช่นนั้น ฉันขอแนะนำให้มาที่
"ซอยอารีย์" แต่ไม่ใช่จะพามาชิมอาหารจากร้านอาหารหลากหลายภายในซอยนี้
แต่อยากแนะนำให้รู้จักกับ "Banana Family Park" ในซอยอารีย์ 1
พื้นที่สีขาวแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
ที่ว่าเป็นพื้นที่สีขาวนั้นก็เพราะกิจกรรมต่างๆ
ที่ให้บริการอยู่ในนั้นล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ไม่มีพิษมีภัย
ไม่ว่าจะเป็นการสอนโยคะ สปา ฟิตเนส และโรงเรียนสอนดนตรีไทยและสากล
รวมไปถึงร้านกาแฟ ร้านอาหารที่ให้บริการแบบไร้แอลกอฮอล์
และอีกหนึ่งกิจกรรมที่ดึงดูดให้ฉันก้าวเท้าเข้ามาที่นี่ก็เพราะอยากจะมา
เยือน "ห้องสมุดธรรมะบ้านอารีย์"
ที่ฉันคิดว่าเป็นสถานที่ที่ทำให้เราใกล้ชิดกับธรรมะในบรรยากาศที่เป็นกันเอง

เข้ามาร่วมกิจกรรมของห้องสมุดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ขึ้นชื่อว่าห้องสมุดธรรมะก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่ามีแต่หนังสือธรรมะ
บางคนพอได้ยินคำว่า "ธรรมะ" ร่างกายก็จะเกิดปฏิกิริยาอัตโนมัติ
มือทั้งสองข้างจะยกขึ้นพนม ดวงตาจะหลับลง จากนั้นก็จะเข้าสู่นิทราไปเลย
หรืออย่างดีหน่อยก็อาจจะแค่หาวหวอดๆ
หรือจะเกิดปฏิกิริยาอย่างไรก็แล้วแต่ความคิดส่วนตัวของแต่ละคน

แต่สำหรับตัวฉันเองนั้นเห็นว่าธรรมะไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะสำหรับพระ
สำหรับเจ้า ธรรมะไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินตัว
แต่ธรรมะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย
และหากพูดถึงหนังสือธรรมะ
ก็ใช่ว่าจะน่าเบื่อหรือมีแต่ศัพท์แสงที่เข้าใจยากไปเสียหมด
เพราะเดี๋ยวนี้มีหนังสือธรรมะหลากหลายแนวให้เลือกอ่าน ทั้งแบบเข้าใจง่าย
ยกตัวอย่างให้เห็นแบบใกล้ตัว และแบบที่ต้องค่อยๆอ่านค่อยๆทำความเข้าใจ
ซึ่งหากเลือกหนังสือให้ถูกกับจริตของเรา
ก็จะทำให้การศึกษาธรรมะนั้นง่ายขึ้นมากเลยทีเดียว

มุมอ่านหนังสือในห้องสมุดธรรมะบ้านอารีย์
และในห้องสมุดธรรมะบ้านอารีย์ที่ฉันมาเยือนในวันนี้
แม้จะเป็นห้องสมุดเล็กๆก็จริง
แต่ก็มีหนังสือธรรมะหลากหลายแนวให้คนที่สนใจได้เลือกอ่านกันทั้งเก่าทั้ง
ใหม่ โดยที่มาของห้องสมุดแห่งนี้ก็เริ่มจากการเป็นสถานที่ทำงานของกลุ่มญาติธรรม
ที่มีใจอุทิศทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา
เริ่มต้นจากการเป็นสถานที่ทำงานเบื้องหลัง และเปิดให้ผู้สนใจท่านอื่นๆ
เข้ามาศึกษาสื่อธรรมะที่รวบรวมเพื่อทำงานนั้น
ต่อมาจึงขยายวงกว้างออกไปจนพัฒนาขึ้นเป็นห้องสมุดธรรมะอย่างในปัจจุบัน

หนังสือหนังหาภายในห้องสมุดนั้นก็มีทั้งพระไตรปิฏกเล่มหนาสำหรับผู้
ที่สนใจหรืออยากค้นคว้าข้อมูลหยิบมาอ่านได้
เรื่อยไปจนถึงหนังสือเกี่ยวกับพุทธประวัติ พุทธชาดก
เรื่องเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด สังสารวัฏ
เรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิบัติ วิธีเจริญวิปัสสนา
หรือเรื่องของธรรมะที่ควรมีในการดำเนินชีวิตที่เขียนโดยพระอาจารย์หลายๆ
ท่าน เช่น ท่านพุทธทาส หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม หลวงพ่อปัญญา นันทภิกขุ
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช ท่าน ว. วชิรเมธี พระอาจารย์มิตซูโอะ เควสโก ฯลฯ

หนังสือธรรมะของพระสายวัดป่า ในห้องหนังสือหายาก
นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีหนังสือธรรมะจากผู้เขียนที่เขียนขึ้นจาก
ประสบการณ์การศึกษาธรรมะของตนเองอย่างดังตฤณ
และนักเขียนแนวธรรมะท่านอื่นๆ
ที่ต่างก็มีมุมมองและแนวการเขียนที่แตกต่างกัน รวมไปถึงหนังสือภาพสวยๆ
ดูแล้วเพลิดเพลิน แต่ก็สอดแทรกคำสอนอันลึกซึ้งเอาไว้ หนังสือแปลต่างๆ
ให้ลองเลือกอ่านกันได้ตามสบาย

และที่พลาดไม่ได้สำหรับคนที่เคารพศรัทธาพระสายวัดป่า
ที่ห้องสมุดธรรมะบ้านอารีย์ก็มีห้องเก็บหนังสือหายาก
ซึ่งมีหนังสือรวบรวมธรรมะจากพระเกจิหลายรูปอย่างหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่หลุย จันทสาโร
หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
และครูบาอาจารย์สายวัดป่าอีกหลายรูป
ผู้ที่สนใจไม่ควรพลาดอ่านหนังสือล้ำค่าเหล่านี้

ห้องพระซึ่งใช้ในการปฏิบัติธรรมบนชั้นสอง
บรรยากาศภายในห้องสมุดธรรมะบ้านอารีย์เท่าที่ฉันเห็นก็ไม่ได้เคร่ง
เครียดเงียบขรึมจนต้องเกิดอาการเกร็งแต่อย่างใด
แต่มีการจัดมุมอ่านหนังสือไว้ให้นั่งสบายๆ
ถูกใจหนังสือเล่มไหนก็หยิบติดมือมานั่งอ่านที่ม้านั่งเบาะนุ่มๆ
จะจิบกาแฟที่ซื้อติดมือมาจากร้านกาแฟหน้าห้องสมุดด้วยก็ทำได้
และเท่าที่ฉันเห็นผู้ที่เข้ามาใช้บริการในห้องสมุดแห่งนี้
ก็ไม่ใช่จะมีแต่วัยสูงอายุเท่านั้นที่จะสนใจหนังสือธรรมะ แต่วัยรุ่น
และวัยทำงานก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มาใช้บริการห้องสมุดในจำนวนที่ไม่แพ้กัน
หรือแม้แต่เด็กเล็กๆ ที่คุณพ่อคุณแม่จูงมาเดินเลือกหนังสืออ่านก็ยังมี

และสำหรับผู้ที่ยังอ่านไม่จุใจ
อยากจะได้หนังสือธรรมะบางเล่มกลับไปอ่านที่บ้าน
ที่นี่เขาก็มีหนังสือธรรมะ ซีดีธรรมะแจกฟรีสำหรับผู้ที่สนใจ
สามารถติดต่อขอรับได้กับเจ้าหน้าที่ของห้องสมุด

หนังสือธรรมะโดยท่านพุทธทาส
นอกจากหนังสือหนังหาอันมากคุณค่าเหล่านี้แล้ว
บนชั้นสองของห้องสมุดก็ยังจัดเป็นห้องพระ
สำหรับเวลาที่ทางห้องสมุดจัดกิจกรรมต่างๆ ทางพุทธศาสนา เช่นการสวดมนต์
การฟังเทศน์ฟังธรรม การเจริญสติ ก็จะมาใช้พื้นที่ตรงนี้จัดทำ

ผู้ที่มาห้องสมุดธรรมะบ้านอารีย์ไม่เพียงแต่จะได้อ่านหนังสือดีๆ
เท่านั้น แต่ยังสามารถร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ทางห้องสมุดจัดขึ้นเป็นประจำ
ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์แปลและสนทนาธรรมทุกวันจันทร์ กิจกรรมการถาม-ตอบ
บุญ กรรม ธรรมแท้ จากพุทธโอษฐ์ ทุกวันอังคารแรกของเดือน
และการแนะนำการเจริญสติแนวหลวงพ่อเทียนทุกวันพุธ การเสวนาธรรม
การปฏิบัติภาวนาตามแนวดูจิตทุกวันเสาร์ และการแสดงธรรมของพระอาจารย์ต่างๆ
อีกทั้งยังมีกิจกรรมสำหรับเด็กและครอบครัวอย่าง "อาทิตย์สุขสันต์ ณ
บ้านอารีย์" ที่จะจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน
โดยในวันอาทิตย์ที่ 28 มิ.ย. นี้จะมีการฟังนิทานชาดก กิจกรรมศิลปะ
และฝึกให้เด็กๆ ประเคนพระ รับพรพระ
ใครที่สนใจกิจกรรมเหล่านี้ก็โทรมาสอบถามรายละเอียดกันได้ที่ห้องสมุดธรรมะ
บ้านอารีย์

เลือกอ่านหนังสือธรรมะไร้พิษภัยกันได้ที่ห้องสมุดธรรมะบ้านอารีย์
เรื่องธรรมะอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจ
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกเช่นกันที่จะลองปฏิบัติ เพียงแค่เปิดใจรับ
และพยายามฝึกตนให้เดินไปในแนวทางของธรรมะ
เชื่อแน่ว่าชีวิตย่อมมุ่งหน้าไปสู่ทางที่ดีไม่มีตกต่ำแน่นอน

หนังสือธรรมะหลากหลายแนว
* * * * * * * * * * * * *
* * * * * * * * * * * * * *
* * * * * * * * * * * * * *
* * * * * *

ห้องสมุดธรรมะบ้านอารีย์ ตั้งอยู่ภายในโครงการ Banana Family Park
ในซอยอารีย์ 1 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ
เปิดให้บริการทุกวัน วันจันทร์-ศุกร์ เปิดเวลา 09.00-19.00 น.
วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดเวลา 10.00-17.00 น.
สอบถามโทร.0-2333-3366, 0-2279-7838

การเดินทาง สามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีอารีย์
ออกมาตามทางออกหมายเลข 1 แล้วเดินไปทางตึกเอ็กซิมแบงค์
ทางเข้าจะอยู่ระหว่างตึกเอ็กซิมแบงค์และปั๊มเอสโซ่
หรือหากมาโดยรถส่วนตัวก็ให้ขับเข้ามาในซอยอารีย์
แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์หนึ่งเข้ามาอีกประมาณ 200 เมตร จะเจอ Banana
Family Park อยู่ทางซ้ายมือ


http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000061805

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น