++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เด็กและเยาวชน : จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน


นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรม
กระทรวงพาณิชย์ และอดีตประธานรัฐสภา ประธานร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540
ได้กล่าวในการปฐมนิเทศของวิทยาลัยสื่อสารการเมือง คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกริก เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2552 ว่า
การปฏิรูปการเมืองและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
จะกระทำได้ก็โดยปล่อยให้นักการเมืองรุ่นเก่าซึ่งมีจุดบกพร่องหลายจุดค่อยๆ
จางหายไปจากโลก เพราะ "ไม้แก่ดัดยาก"
จุดมุ่งหมายควรจะพุ่งไปที่เด็กและเยาวชนตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไป
โดยให้มีการสั่งสอนอบรมในครอบครัว ในโรงเรียนให้มีระเบียบวินัย
รู้จักเข้าแถว พูดจาฉะฉาน มีความเชื่อมั่น กระทำสิ่งที่ถูกต้อง
ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม รักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม
ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ไม่รังแกเพื่อน ไม่โกงเพื่อน

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ให้เด็กๆ มีระเบียบวินัย มีศีลธรรม จริยธรรม
มีความรับผิดชอบ เพื่อจะได้เป็นแบบอย่าง "สั่งสอนผู้ใหญ่"
เมื่อไหร่ที่ผู้ใหญ่กระทำผิด เช่น จอดรถในที่ไม่ควรจอด
เด็กก็จะเข้าไปกล่าวว่า การจอดเช่นนี้ผิดกฎหมายจราจร
และยังอาจจะนำไปสู่อันตราย น่าจะนำไปจอดในสถานที่ถูกต้อง เป็นต้น

ข้อเสนอแนะของคุณอุทัยเป็นเรื่องที่น่ารับฟังและมีเหตุผล
เพราะข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า อนาคตประเทศชาติจะเป็นอย่างไรทั้งในทางสังคม
การเมือง และเศรษฐกิจ ก็ขึ้นอยู่กับเด็กและเยาวชนในขณะนี้
เด็กและเยาวชนจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับการอบรมสั่งสอนในครอบครัวและใน
โรงเรียน โดยคุณอุทัยบอกว่าครูคนแรกคือพ่อแม่
ส่วนครูในโรงเรียนก็คือครูคนที่สอง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ข้อเสนอดังกล่าวมีเหตุมีผลน่ารับฟัง
และเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วโดยเฉพาะผู้สอนวิชาเกี่ยวกับการกล่อมเกลาเรียนรู้
(socialization) ประเด็นอยู่ที่การปฏิบัติ
รัฐไม่สามารถจะบีบบังคับให้พ่อแม่เดินตามแนวนโยบายการอบรมสั่งสอนในครอบครัว
ได้ เพราะครอบครัวเป็นสถาบันส่วนบุคคลที่ไม่มีใครมีสิทธิเข้าไปก้าวก่าย
ยกเว้นพ่อแม่กระทำการทารุณต่อเด็ก หรือทำให้เกิดความเสียหายต่อเยาวชน
รัฐก็จะเข้าไปคุ้มครองเด็กและเยาวชนนั้น
ซึ่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พ่อแม่ในครอบครัวย่อมอยู่ภายใต้อิทธิพลจากกระบวนการที่ตนได้รับการสั่งสอนมา
และจากพลังของวัฒนธรรมสังคม เมื่อพ่อปู-แม่ปูเดินไปในลักษณะใดลูกๆ
ก็จะเดินตามแนวนั้น จะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างก็คงจะไม่มาก
การสืบทอดวัฒนธรรมสังคมซึ่งประกอบด้วยค่านิยมและปทัสถาน
รวมตลอดทั้งวัฒนธรรมการเมืองจึงดำเนินไปอย่างไม่ขาดสาย

ประเด็นอยู่ที่ว่า จะทำลายวงจรอันต่อเนื่องนี้ได้อย่างไร
ในครอบครัวนั้นคงเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้
แต่ในโรงเรียนหลักสูตรตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถมและมัธยม และขั้นอุดมศึกษา
ฝ่ายรัฐโดยกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม
น่าจะมีบทบาทในการวางหลักสูตรและกระบวนวิธีการอบรมสั่งสอน
และกล่อมเกลาเรียนรู้ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นจะต้องมีการตกลงร่วมกันว่า
ภารกิจดังกล่าวนั้นต้องเป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์บนพื้นฐานความมุ่งมั่น
อย่างแท้จริงที่จะเปลี่ยนบุคลิกภาพของเด็กและเยาวชนเพื่อผลในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลิกภาพที่มีระเบียบ วินัย ความรับผิดชอบ
มีศีลธรรมและจริยธรรม และมีค่านิยมแบบประชาธิปไตย
โดยมองเห็นมนุษย์มีความเสมอภาคกัน ให้ความศักดิ์สิทธิ์กับสิทธิเสรีภาพ
และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่สำคัญมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา
พระมหากษัตริย์ และมีความรู้สึกนิยมชาติ (ไม่ต้องถึงกับชาตินิยม)

เนื่องจากวิธีการที่เสนอมาให้มีการอบรมเยาวชนตั้งแต่ 5
ขวบในครอบครัวกระทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ
ก็คงเหลือเฉพาะที่โรงเรียนซึ่งจะประกอบด้วยส่วนสำคัญก็คือ
หลักสูตรในทางสังคมศาสตร์
ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลิกภาพที่พึงประสงค์
เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญของชาติ
และเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
หลักสูตรดังกล่าวนี้จะต้องมีการสร้างความเข้มข้นทำนองเดียวกับการสร้างความ
เข้มข้นในการอบรมเรื่องศีลธรรม จริยธรรมอันเป็นคำสอนในศาสนา

นอกเหนือจากส่วนที่เป็นหลักสูตรดังกล่าวแล้ว
กระบวนการที่ถือเป็นกระบวนการจัดตั้งและสามารถจะเน้นหนักในเรื่องดังกล่าว
ได้ก็คือ ลูกเสือและเนตรนารี
สำหรับเด็กประถมและมัธยมต้นควรจะใช้วิชาลูกเสือหรือเนตรนารีอบรมกล่อมเกลา
ทางจิตใจ ฝึกระเบียบวินัย
เพราะในแง่หนึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีส่วนคล้ายคลึงกับกระบวนการของ
องค์กรจัดตั้งทางทหาร การฝึกแถว เดินแถว การแต่งเครื่องแบบลูกเสือ
โดยมีการถือไม้พลองด้วย ใส่หมวกแก๊ป
ซึ่งจะทำให้เกิดอัตลักษณ์และเป็นแหล่งที่สามารถจะสร้างค่านิยม ปทัสถาน
และจิตสำนึกในการรักชาติได้ ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 6
ตั้งขบวนการที่ใหญ่กว่าลูกเสือ นั่นคือ ขบวนการเสือป่า ซึ่งเป็นกึ่งๆ
กองกำลังทหารจัดตั้ง
โดยนักวิชาการบางคนวิเคราะห์ว่าเป็นการคานกำลังอำนาจกับกองกำลังทหารซึ่งมี
กรมพระนครสวรรค์เป็นผู้บัญชาการ

อย่างไรก็ตาม
พระองค์ท่านก็เน้นความรักชาติและความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองเป็นหลัก
ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างความรู้สึกรักชาติและนิยมชาติ
แต่สามารถเพิ่มเติมค่านิยมประชาธิปไตยเข้าในกระบวนการฝึกอบรมได้

กระบวนการอีกกระบวนการหนึ่งได้แก่ กระบวนการยุวชนทหาร
ซึ่งเท่ากับการยกระดับจากลูกเสือมาสู่กระบวนการกึ่งทหาร
หากแต่เป็นทหารที่เป็นยุวชน
เพื่อจะให้การอบรมสั่งสอนในระดับของลูกเสือมีความเข้มข้นยิ่งขึ้น
ในปัจจุบันนี้การฝึก รด.
หรือรักษาดินแดนก็อาจจะเป็นลักษณะคล้ายคลึงยุวชนทหาร
หากแต่การฝึกรักษาดินแดนอาจมิได้ให้น้ำหนักกับการสร้างบุคลิกภาพที่พึง
ประสงค์ดังที่กล่าวมาแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตสำนึกในสิทธิและหน้าที่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบ
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การใช้การฝึกทหารรักษาดินแดนเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวมา
น่าจะเป็นสิ่งที่นำไปพิจารณา
ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อจะเสนอแนะความคิดเห็นเผื่อจะเป็นประโยชน์ในการ
วิเคราะห์หาความรู้เพิ่มเติมอันอาจนำไปปฏิบัติได้

ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าเด็กและเยาวชนปัจจุบันซึ่งเป็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว
ขาดความรู้ทางประวัติศาสตร์ของประเทศ
เมื่อขาดความรู้ทางประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง
จิตสำนึกในอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของความเป็นคนไทยก็ย่อมจะเบาบาง
นอกเหนือจากนั้น
จากความเจริญทางวัตถุอันเนื่องมาจากการเติบโตของการค้าในเศรษฐกิจเดินตามแนว
ทุนนิยม ทำให้เยาวชนจำนวนไม่น้อยมุ่งหาความสนุกสนาน ผูกติดกับวัตถุนิยม
บริโภคนิยม และเงินตรานิยม การหาความสำราญสนุกสนานไปวันๆ
โดยอาศัยเงินจากบิดามารดานั้น ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า
เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อย "ไร้สาระและแก่นสารของชีวิต" และ
"ไร้จิตสำนึกของความเป็นพลเมือง
ขาดความรู้เรื่องหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม"

บางคนอยากให้มีการนำหนังสือเกี่ยวกับ "สมบัติผู้ดี"
กลับมาร่ำเรียนกันใหม่
เพราะนั่นเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดบุคลิกภาพที่พึงประสงค์
และขจัดซึ่งความขัดแย้งที่นิยมการใช้ความก้าวร้าวและรุนแรง
ขาดความเกรงอกเกรงใจ ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของสังคมปัจจุบัน
จนดูเสมือนหนึ่งว่ามีจุดบอดในการกล่อมเกลาเรียนรู้ในครอบครัว
และมีความผิดเพี้ยนในวัฒนธรรมของชาติซึ่งเป็นชาติเก่าแก่ชาติหนึ่ง

คุณอุทัย พิมพ์ใจชน ได้จุดประกายความคิดที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
แต่ในทางปฏิบัติจะต้องมีการใช้วิธีการอันแยบยล ที่สำคัญที่สุด
ฝ่ายรัฐซึ่งได้แก่หน่วยงานต่างๆ
รวมทั้งสื่อมวลชนและประชาชนต้องเข้าใจอย่างกระจ่างในเรื่องดังกล่าว
และเรียกร้องให้มีการเริ่มต้นเพื่อเด็กและเยาวชนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะ
สามารถกลายเป็นผู้ใหญ่ที่น่าพึงประสงค์ได้ในระยะ 20-30 ปีข้างหน้า

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000065327

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น