++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประเพณีรับน้องโหด : เชื่อมมิตรหรือทวงคืนความแค้น?

โดย สามารถ มังสัง


ในการเริ่มต้นปีการศึกษา (Academic Year) ในหลายปีที่ผ่านมา
แทบทุกปีจะมีข่าวประเพณีรับน้องแบบโหด
ด้วยการทำร้ายร่างกายหรือทรมานร่างกายด้วยรูปแบบต่างๆ
ที่รุ่นพี่กระทำต่อรุ่นน้อง
และหากรุ่นน้องคนใดขัดขืนก็จะมีการลงโทษด้วยวิธีการที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง
หรือแม้กระทั่งตัวเด็กผู้ถูกกระทำเองยอมรับไม่ได้
และออกมาร้องขอความเป็นธรรมต่อสังคมโดยรวม
และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการกำกับดูแลสถานศึกษานั้นๆ

เมื่อใดก็ตามที่ปรากฏเป็นข่าว และมีการร้องเรียน
ทั้งกระทรวงศึกษาฯ
และทบวงมหาวิทยาลัยได้มีการเคลื่อนไหวด้วยการสั่งการให้มีการสอบข้อเท็จจริง
และหากปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนก็จะมีการลงโทษทั้งในส่วนของรุ่นพี่ผู้กระทำ
และในส่วนของผู้บริหารสถานศึกษานั้นๆ

แต่ถึงกระนั้น การรับน้องแบบโหดก็ยังมีอยู่
ดังที่ปรากฏเป็นข่าวว่า
นักศึกษารุ่นน้องจากวิทยาเขตอุเทนถวายจำนวนหนึ่งทั้งหญิงและชาย
พร้อมด้วยผู้ปกครองได้เข้าร้องต่อมูลนิธิปวีณา
หงสกุลให้ช่วยดำเนินการเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากรุ่นพี่
และผู้บริหารของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ด้วย

ในทำนองเดียวกับทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้
ทางกระทรวงศึกษาฯ ก็ได้สั่งการให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริง
โดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง มี ผศ.ดร.สรรค์ วรอินทร์ เป็นประธาน
และจากการสอบสวนของคณะกรรมการชุดนี้เชื่อว่าการรับน้องของวิทยาเขตอุเทนถวาย
ไม่เหมาะสมจริง มีทั้งการขู่เข็ญ บังคับ ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
และการใช้กำลังรุนแรง ดังนั้น คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ
จึงได้ข้อสรุปดังนี้

1. ให้เลขาธิการ กกอ.สั่งการไปยังอธิการบดี มทร.ตะวันออก
ดำเนินการสืบเสาะข้อเท็จจริงเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
เช่น ตัดคะแนนความประพฤติ ไล่ออก
และถ้าพบว่ากรณีที่เกิดขึ้นร้ายแรงถึงคดีอาญาก็ให้ดำเนินคดีทันที

2. ให้อธิการบดีตั้งกรรมการสอบวินัยผู้บริหาร และอาจารย์ 5 ราย
เช่น รองอธิการบดี คณบดี หัวหน้าภาควิชา และอาจารย์ฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา
เป็นต้น

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
และการเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาของกระทรวงศึกษาฯ
จะเห็นได้ว่าได้เป็นไปในทำนองเดียวกับทุกครั้งที่เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้น
จึงไม่น่าจะหวังผลอะไรได้มากนักว่าจะทำให้ปัญหานี้ลดลง
และหมดไปจากสถานศึกษาที่ว่านี้ หรือแม้กระทั่งสถาบันการศึกษาอื่นๆ
ที่เคยมีประเพณีรับน้องแบบโหดทำนองเดียวกันนี้

อะไรคือเหตุให้เกิดหรือที่มาของการรับน้องแบบโหด
และจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไรให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าที่เคยเป็นมาแล้ว?

เกี่ยวกับเรื่องนี้
ถ้าจะให้เน้นลงลึกถึงการแก้ไขและป้องกันมิให้เหตุการณ์ในทำนองนี้เกิดขึ้น
ได้เด็ดขาดอย่างเป็นรูปธรรมแล้วละก็
จะต้องย้อนไปดูทั้งในส่วนของพฤติกรรมอันเป็นปัจเจกบุคคลของนักศึกษาผู้ที่
นิยมชมชอบการรับน้องแบบโหด
และพฤติกรรมองค์กรโดยรวมของสถานการศึกษาที่มีประเพณีรับน้องแบบโหด
ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน และสืบทอดรุ่นต่อรุ่น
ก็จะพบว่าประเพณีทำนองนี้น่าจะเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. เป็นที่น่าสังเกตว่า
สถานศึกษาที่มีการรับน้องแบบโหดส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับวิทยาเขต
ซึ่งปรับระดับมาจากโรงเรียนอาชีวะแต่เดิมขึ้นมาสอนในระดับอุดมศึกษา
ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่มีระดับสติปัญญาอยู่ในระดับปานกลางถึงระดับที่ค่อนข้าง
ต่ำเมื่อเทียบกับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษามาแต่เดิม เช่น ธรรมศาสตร์
จุฬาฯ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยปิด
และเป็นที่นิยมของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานของตนเข้าศึกษา
มากกว่าวิทยาเขต จึงทำให้สถานศึกษามีโอกาสเลือกผู้เข้าศึกษาได้มากกว่า

อีกนัยหนึ่ง
ผู้ศึกษาในสายอาชีพส่วนใหญ่จะเอาเด่นทางด้านวิชาการค่อนข้างยาก
จึงมักจะหันมาเอาเด่นทางด้านกิจกรรมและในการทำกิจกรรมมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ที่จะต้องเน้นการเชื่อฟัง โดยยึดระบบอาวุโสพี่ปกครองน้อง
และนี่เองน่าจะเป็นที่มาในการคิดค้นวิธีการรับน้องแบบแปลกประหลาดเพื่อ
บังคับให้น้องเชื่อพี่

2. ในส่วนของครูบาอาจารย์
เมื่อนักศึกษาส่วนใหญ่มุ่งเน้นกิจกรรมและต้องการสร้างระบบพี่ปกครองน้อง
โดยให้ความสนใจเรื่องวิชาการเป็นอันดับรอง ก็จำใจต้องยอมตาม
เพราะหากสวนทางกันก็ปกครองเด็กนักศึกษาได้ยาก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ
ถ้าจะให้เด็กยอมรับนับถือ และได้ใจเด็กก็จะต้องยอมตามเด็ก
เมื่อเด็กอยู่เหนือครูในแง่ของแนวคิดแล้ว
โอกาสที่ครูจะปกครองเด็กให้อยู่ในระเบียบระบบก็กระทำได้ยาก
และนี่เองที่ปรากฏเป็นข่าวว่าอาจารย์บางคนก็กลัวเด็ก

3. ระดับการศึกษาในขั้นอาชีวะในยุคก่อนเป็นวิทยาเขต
การกระทบกระทั่งของเด็กสองสถาบัน เช่น ก่อสร้างอุเทนถวายกับช่างกลปทุมวัน
ก็ยกพวกตีกันมาตลอด
จึงทำให้รุ่นพี่ถ่ายทอดรุ่นน้องถึงการเป็นมิตรระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง
เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลและปกป้องให้รอดพ้นจากคู่อริสืบทอดรุ่นต่อรุ่น
ถึงแม้วันนี้โรงเรียนอาชีวะได้ถูกยกระดับเป็นวิทยาเขต
แต่ประเพณีที่ว่ามิได้ยกเลิกไปแต่อย่างใด
แท้จริงแล้วยังคงฝังอยู่ในเด็กนักศึกษาสืบทอดรุ่นต่อรุ่น

อีกประการหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม
เมื่อรุ่นพี่ทำอะไรไว้กับรุ่นน้อง รุ่นน้องก็จดจำ
และทวงคืนจากรุ่นน้องในปีต่อไป

ทั้งหมดที่ว่ามาดังกล่าวข้างต้น คือเหตุปัจจัยให้เกิดประเพณีรับน้องโหด

ส่วนประเด็นที่ว่า จะแก้ไขอย่างไรนั้นจะต้องมองโดยรวมจากเหตุ 3
ประการ และนำมาผนวกกับภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน
ก็พอจะอนุมานแนวทางแก้ไขป้องกันได้ดังต่อไปนี้

1. จะต้องยกเลิกการรับน้องนอกสถานที่การศึกษาโดยเด็ดขาด
โดยเฉพาะการรับน้องที่รุ่นพี่จัดขึ้นเองตามลำพัง
และทางฝ่ายบริหารการศึกษาไม่มีส่วนร่วมในการจัด

หากนักศึกษาคนใดขืนจัดจะต้องมีการลงโทษตั้งแต่ตัดคะแนนความประพฤติพักการเรียน
ไปจนถึงไล่ออกให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา

2. ให้ทุกสถานการศึกษาที่มีความประสงค์จะจัดรับน้อง
ต้องแจ้งต่อกระทรวงศึกษาฯ หรือทบวงมหาวิทยาลัยทราบ
และพิจารณาอนุมัติรูปแบบในการจัด

3. เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจะต้องดำเนินการร่วมกันระหว่างนักศึกษารุ่นพี่
กับฝ่ายบริหารของสถาบันการศึกษา
ทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหาของประเพณีรับน้อง
จะต้องแจ้งให้ผู้ปกครองเด็กนักศึกษาที่เป็นรุ่นน้องได้รับทราบก่อนจะนำนัก
ศึกษามาร่วมกิจกรรม เพื่อป้องกันมิให้เกิดการร้องเรียนในภายหลัง
และให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ได้สมัครไว้เท่านั้น

ถ้าดำเนินการทั้ง 3 ประการนี้
เชื่อว่าการร้องเรียนเรื่องรับน้องโหดจะค่อยๆ ลดลง และหมดไปในที่สุด

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000067390

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น