++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แปรรูปเพิ่มมูลค่า มะเดื่อภูฟ้า แคลเซียมเทียบนมสด-ผักโขม

จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ไปในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อ
ความหลากหลายทางชีวภาพ ของสิ่งมีชีวิตอย่างยิ่งยวด และด้วยเห็นถึง
ความสำคัญดังกล่าว สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลน่าน (รม.)
จึงส่งเสริมให้บุคลากร ของสถาบันทำการวิจัย ค้นคว้าความหลากหลายทางชีวภาพ
ในท้องถิ่น นำเทคโนโลยีที่มีผสาน กับภูมิปัญญาท้องถิ่น
เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตลอดจนนำความรู้ ที่ได้พัฒนากลับคืนสู่ชุมชน
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ "มะเดื่อภูฟ้า" เป็นอีกผลงานหนึ่งที่ รม.น่าน
ได้ศึกษาโดยเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีแนวทางในการดำเนินงาน 3
ด้าน คือ เรียนรู้ทรัพยากร ใช้ประโยชน์
และสร้างจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์ พันธุกรรมพืช
และยังได้เข้าร่วมโครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
อีกด้วย "มะเดื่อภูฟ้า" เป็นพืชในตระกูลมะเดื่อ
ที่คนไทยรู้จักมาช้านานแล้ว มีชื่อเรียกต่างๆ กันไป เช่น โพธิ์ ไทร ไกร
กร่าง พบมากในเขตพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ชาวบ้านท้องถิ่น
มักเก็บมารับประทานเป็นเครื่องเคียง หรือกับแกล้มอาหารประเภทลาบ น้ำพริก
และแกงบอน ผลสุกนำมารับประทาน เป็นผลไม้สดได้ มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว
เด็กๆ ชอบรับประทาน ส่วนผู้ใหญ่เชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ
มีฤทธิ์ต่อต้านมะเร็ง กระตุ้นการหลั่งน้ำนมหลังคลอด ผลแก้ท้องเสีย
บำรุงโลหิต สร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันกระดูกผุ
รากใช้รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ แก้ไข้กาฬ ปวดศีรษะและโลหิตจาง
ใบต้มดื่มรักษาม้ามโต เหง้าแก้ปวดเมื่อย นอกจากนี้ ยังใช้ในพิธีกรรมต่างๆ
อีกด้วย

นอกจากสรรพคุณดังกล่าวข้างต้นแล้ว
มะเดื่อภูฟ้ายังมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ปริมาณแคลเซียมที่สูงระดับเดียวกับน้ำนมโคสดและผักโขม
ขณะที่ธาตุเหล็กก็มีปริมาณสูงเช่นกัน เมื่อเทียบกับผลไม้และผักอื่นๆ
โดยเนื้อมีปริมาณเหล็กพอๆ กับสตรอเบอร์รี่ กล้วย กีวี ลิ้นจี่ มะม่วง
เสาวรส และมะละกอ ด้วยสรรพคุณมากมายดังกล่าว คณะวิชาเทคโนโลยีอาหาร
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จึงได้ศึกษาการใช้ประโยชน์
ด้วยการนำมาดองเค็มในน้ำเชื่อม แช่อิ่มอบแห้ง และสามรส
เรียกว่าพัฒนารสชาติ จนเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค
และวันนี้ทีมงานก็ได้นำสูตร "มะเดื่อภูฟ้าสามรส" มาฝากกันด้วย
การทำมะเดื่อภูฟ้าสามรสแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน
เริ่มจากนำมะเดื่อภูฟ้ามาดองเค็ม ในน้ำเกลือเข้มข้น 10% โดยละลายเกลือ 1
กก. ต่อน้ำ 9 กก. ดองทิ้งไว้อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนนำมะเดื่อ
ที่ผ่านการดองเค็มแล้วมาปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นขนาดตามต้องการ
แล้วแช่ในน้ำสะอาดจนกระทั่งหายเค็ม
จากนั้นนำมะเดื่อฯมาคลุกเคล้ากับน้ำตาล เกลือ และกรดซิตริก
บรรจุลงถุงพลาสติก รัดปากถุงแล้วนำไปแช่ ไว้ในตู้เย็น 1 คืน
วันรุ่งขึ้นจึงนำไปอบที่อุณหภูมิที่ 60 ํC จนแห้ง (ใช้เวลา 3-4 ชม.)
อาจเพิ่มรสชาติด้วยการคลุกกับผงบ๊วย
เท่านี้ก็จะได้มะเดื่อภูฟ้าเลิศรสไว้รับประทานยามเปรี้ยวปาก
หรือถ้ามีจำนวนมากจะแปรรูปขายเป็นรายได้เสริมก็ไม่เลว
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2282-9340, 0-2282-9341.

ดวงแก้ว ผุงเพิ่มตระกูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น