++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ปราสาทพระวิหารจำลอง!

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

เมื่อประมาณต้นสัปดาห์ที่แล้ว เราคงได้ยินข่าวคราวที่เป็น
"ความคิดสร้างสรรค์" ของ "ภาคเอกชน" และ "ภาคประชาชน" เกี่ยวกับ
"การสร้างปราสาทพระวิหารจำลอง" ที่บริเวณ "ผามออีแดง"
ที่ตามความมั่นใจว่าอยู่ฝั่งไทย จนเป็นที่ฮือฮาอย่างมากในหมู่คนไทยกันเอง
จนมีเสียงขานตอบรับ "สนับสนุน" กันโดยทั่วไป
จากผลของการสำรวจของนานาสารพัดสำนัก น่าจะสูงถึงร้อยละ 80 กว่าๆ!

เป็นกรณีที่แทบไม่น่าเชื่อว่า "แนวคิด" นี้
เมื่อได้ถูกโยนออกมาสู่สาธารณชน
กลับได้รับทั้งการวิพากษ์วิจารณ์และเสียงตอบรับอย่างกว้างขวาง
จนน่าจะเป็นไปได้ที่ "แนวคิดการสร้างปราสาทพระวิหารจำลอง"
อาจจะได้รับการสนับสนุน และสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้

แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากที่แม่ทัพภาคที่ 2 พล.อ.วิบูลย์ศักดิ์
หนีพาล ได้นำผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
ไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่บรรดานายทหารที่เฝ้าระวังตามแนวตะเข็บชายแดน
ไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะช่วงพื้นที่บริเวณที่มักมีการปะทะกันบ่อยครั้ง
จากความเข้าใจผิดของเขตแดนและความไม่ชัดเจนของพื้นที่ 3.5 ตารางกิโลเมตร
หรือประมาณ 3,000 ไร่

ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ปัญหาระหว่างพื้นที่บริเวณทับซ้อน 3.5
ตารางกิโลเมตรนั้น เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาตลอดระยะเวลานับสิบๆ ปีที่ผ่านมา
เนื่องด้วยความไม่ชัดเจนของการปักหลักพรมแดนบริเวณพื้นที่ดังกล่าว
ซึ่งทุกวันนี้ต่างก็ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนของพื้นที่ 3.5 ตารางกิโลเมตร
ว่า "ไทย" หรือ "กัมพูชา" ได้ครอบครองบริเวณพื้นที่ใดบ้าง "กรณีพิพาท"
จนเลยเถิดถึง "ขั้นปะทะ" กัน จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

แต่ว่าไปแล้ว บริเวณพื้นที่ดังกล่าวก็ "อึมครึม-คลุมเครือ"
มาตราบเท่าทุกวันนี้ โดยที่เมื่อเราได้ยินข่าวคราวปะทะกันทีไร เป็นต้อง
"อารมณ์เดือด!" ทุกครั้ง
และจินตนาการว่ามันคงสู้รบปะทะจนอาจกลายเป็นพื้นที่สงครามย่อยๆ
ไปเลยก็เป็นได้

ทั้งนี้ตามความเป็นจริงแล้ว เท่าที่ได้สดับตรับฟังมา
เหตุการณ์มิได้เลยเถิดบานปลายถึงขั้นสงครามชายแดนแต่ประการใด
แต่เป็นเพียงการยิงปืนขึ้นฟ้า "ข่มขู่" กันเท่านั้น ว่า "เฮ้ย!
หน่วยลาดตระเวนของเอ็งน่ะ กำลังรุกล้ำมาฝั่งเรานะ!" โดยที่แทบจะนานๆ
ครั้ง จะยิงถล่มกระสุนเข้าใส่กัน

อย่างไรก็ตาม แทบทุกครั้งที่บรรดา "ทหารลาดตระเวน"
ที่เฝ้าคุ้มกันแนวตะเข็บบริเวณนั้น เมื่อลาดตระเวนมาเจอกัน ก็จะทักทาย
พร้อมนั่งร่วมวงเสวนาและร่วมดื่ม
ร่วมรับประทานอาหารอย่างคุ้นเคยดังเพื่อนสนิทกัน มิได้เกลียดชัง
พุ่งจะห่ำหันกันแต่ประการใด

ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา นั้น
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ว่าเป็น "ปัญหาเก่าแก่" ที่ "คาราคาซัง"
กันมายาวนานจนทุกวันนี้ "คณะกรรมการเจรจาร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา"
กับบริเวณพื้นที่ 3.5 ตารางกิโลเมตร
ยังมิได้มีข้อยุติและคืบหน้าไปมากเท่าใดเลย
ดูเสมือนว่าทั้งสองฝ่ายมิได้จ้องจะเอาเป็นเอาตายจริงจังกันขนาดนั้น
ตราบใดที่พอจะยอมรับกันได้ เนื่องจากเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน
และมิได้ล่วงล้ำเขตพื้นที่จนน่าเกลียด!

แต่ช่วงที่ "รัฐบาลพลังประชาชน" เป็นรัฐบาลนั้น ในช่วงที่
"คุณนพดล ปัทมะ" ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้น
ได้เร่งดำเนินการเต็มที่สนับสนุนให้มีการ "ประกาศ" ให้ "ปราสาทพระวิหาร"
เป็น "มรดกโลก" ด้วยการยินยอมประสานงานเป็นตัวกลางระหว่าง "กัมพูชา" กับ
"องค์กรยูเนสโกแห่งยูเอ็น-สหประชาชาติ"
เพื่อแลกเปลี่ยนข้อเสนอบางสิ่งบางอย่างระหว่าง "นายใหญ่" กับ
"รัฐบาลกัมพูชา" ในขณะนั้น

ทั้งนี้ เราคงพิสูจน์อะไรไม่ได้จาก
"ข้อวิพากษ์วิจารณ์-ข้อกล่าวหา" ดังกล่าวข้างต้น
แต่แทบทุกฝ่ายทั้งในประเทศไทยและนานาอารยประเทศต่างตระหนักดีและถึงขั้นปักใจเชื่อว่า
น่าจะมี "การเจรจาต่างตอบแทน" กรณี "ผลประโยชน์" เกี่ยวกับ
"แหล่งทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงาน-แก๊สและน้ำมัน" และอาจเลยไปจนถึง
"เกาะกง" ที่ต้องการเพียงตอบสนอง "นายใหญ่!"

นอกจากนั้น ยังมีการนินทากันเพิ่มเติมว่า "การปะทะ" และ
"การแย่งพื้นที่ 3.5 ตารางกิโลเมตร" นั้น น่าจะเกิดจาก "การสนับสนุน"
จนถึงขั้น "ยั่วยุ" ของ "นายใหญ่" ที่ "กดปุ่ม-บงการ" อยู่ต่างประเทศ
ด้วยการให้เงินก้อนโตสนับสนุนรัฐบาลกัมพูชา
ให้เกิดความตึงเครียดขึ้นระหว่าง "ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา"

จะจริงเท็จประการใด เราคงพิสูจน์ไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ
พอหมดยุคนายนพดล ปัทมะ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ
หลังจากที่องค์กรยูเนสโก ได้ประกาศให้ "ปราสาทพระวิหาร" เป็น "มรดกโลก"
ขึ้นกับ "ประเทศกัมพูชา" หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็หมายความว่า คุณนพดล
"จบภารกิจสำคัญ" ก็ประกาศ "ลาออก-เปิดตูด" และอาจรับทรัพย์ไปอีกโข
จนเป็นที่มาของการด่าทอจากคนไทยว่า "ขายชาติ!"

นับแต่นั้นมา แนวตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา
บริเวณนั้นก็เกิดการเผชิญหน้าและปะทะกันอย่างประปราย
โดยที่ทุกฝ่ายในฝั่งไทยต่าง "ชี้นิ้ว" ไปที่ "นายใหญ่" หมดว่า
"อยู่เบื้องหลัง!"

ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว "ปราสาทพระวิหาร"
เท่านั้นที่ประกาศให้เป็น "มรดกโลก" ที่ตกเป็นของกัมพูชา แต่
"บริเวณเขาพระวิหาร" นั้น ยังมิได้ถูกประกาศให้เป็นของกัมพูชา
ซึ่งบริเวณพื้นที่ทับซ้อน 3.5 ตารางกิโลเมตรนั้น
ยังคงร่วมประชุมเจรจาระหว่างรัฐบาลทั้งสองที่ยังไม่ได้ข้อยุติแต่ประการใด

ความจริงที่เราต้องยอมรับว่า "ปราสาทพระวิหาร"
เป็นปราสาทโบราณมีความเก่าแก่ยาวนานนับเกือบพันปี
ดังที่กล่าวตามประวัติศาสตร์ข้างต้น และโด่งดังไปทั่วโลก
จนมีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาท่องเที่ยวปีละจำนวนหลายแสนคน
แต่ก็ต้องเดินขึ้นจากฝั่งไทย เพราะเดินทางขึ้นจากฝั่งเขมรนั้นยากลำบากมาก

ทางการกัมพูชาเพียรพยายามสร้างถนนและทางขึ้นจากฝั่งประเทศเขามาโดยตลอด
แต่ยากเย็นแสนเข็ญ เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาลาดชัน
และต้องลงทุนสูง จึงยังไม่สำเร็จบรรลุผลมาถึงวันนี้

ความเก่าแก่โบราณและสถาปัตยกรรมของ "ปราสาทพระวิหาร" นั้น
ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
แม้กระทั่งถูกนำมาสร้างเป็นสารคดีและภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง
จนทำให้นักท่องเที่ยวต่างประทับใจเมื่อได้ไปเยี่ยมชมทุกครั้ง

ว่าไปแล้ว "ปราสาทพระวิหาร"
น่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เลื่องชื่อทีเดียวของกัมพูชา
นอกนั้นแทบจะไม่มีอะไรเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่สร้างรายได้ให้แก่
"อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกัมพูชา" ได้ดี
เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเราที่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค

แนวคิดในการสร้าง "ปราสาทพระวิหารจำลอง" ที่ "ผามออีแดง"
ฝั่งไทยนั้น เป็นแนวคิดที่น่าสนับสนุนอย่างมาก และขอย้ำว่า
"มิใช่เป็นความคิด" ของแม่ทัพภาคที่ 2 กับผู้บัญชาการทหารบก
แต่เป็นแนวคิดของ "ภาคเอกชน-ภาคประชาชน"
ที่เอือมระอาและเบื่อหน่ายความขัดแย้ง จน "ลักปิด-ลักเปิด" กล่าวคือ
เดี๋ยวก็เปิดให้ชม เดี๋ยวก็ปิดให้ชม
จนบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติเอือมระอากับปัญหาดังกล่าว ขาดรายได้ไปเยอะ!

นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องอาศัยฝั่งไทยในการเดินทางขึ้นสู่ปราสาทฯ
จนฝั่งเขมรเองก็ไม่ค่อยพอใจเท่าใดนัก เนื่องด้วยทำให้เขาขาดรายได้
จนเกิดการ "ตีรวน-สร้างปัญหา" จนนักท่องเที่ยวไม่เป็นสุข

การจะสร้างปราสาทพระวิหารจำลอง
น่าจะต้องใช้พื้นที่จำนวนนับร้อยไร่ และงบประมาณมหาศาล
แต่ระยะยาวก็ต้องตอบว่า "คุ้ม!" อย่างแน่นอน เพราะจะ "สวยกว่า-ใหญ่กว่า"
ตลอดจนบริเวณผามออีแดงนั้น
เป็นชะง่อนเขาที่ทิวทัศน์สวยงามมากกว่าที่ตั้งของปราสาทฯ จริงในปัจจุบัน

มีเพียงปัญหาเดียวที่อาจจะไม่สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว
คือ "ความโบราณ" และ "ประวัติศาสตร์" ที่นักท่องเที่ยวต้องการ
"ความประทับใจ" กับสองประเด็นข้างต้น

ซึ่งในกรณีปัจจัยปัญหาหลักข้างต้นนั้น "โบราณ-ประวัติศาสตร์"
เป็นเป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยว การสร้าง "ปราสาทพระวิหารจำลอง"
อาจเป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวเพื่อ "การประชัน" กันเท่านั้น ซึ่งแน่นอน
"ความอลังการ" ย่อมยิ่งใหญ่กว่าแน่นอน แต่ "ความรู้สึก" นั้น
น่าจะต้องมาขบคิดเป็นประเด็นสำคัญสูงสุดเช่นเดียวกัน!

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000061820

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น