++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ยุทธศาสตร์กระโดดกบของเนวิน

โดย ว.ร.ฤทธาคนี


กระโดดกบเป็นท่าการออกกำลังกายชนิดหนึ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Leapfrog
คือ การวิ่งไปข้างหน้าแล้วกระโดดข้ามผู้เล่นข้างหน้าซึ่งก้มศีรษะยันแขนกับหัว
เข่าหันไปทิศทางวิ่งของผู้กระโดดที่จะใช้หลังของผู้เล่นที่ก้มศีรษะเป็นที่
ยันให้ตัวลอย และข้ามไปข้างหน้าด้วยความรวดเร็ว
กระโดดกบเป็นการออกกำลังกายที่นิยมทำกันของทีมฟุตบอลหรือรักบี้
เพราะสามารถให้ผู้เล่นกระโดดข้ามต่อๆ
กันไปได้รอบสนามเป็นการออกกำลังขาที่ดีเยี่ยม

หากอุปมาอุปไมยว่า กระโดดกบก็คือ
การใช้คนอื่นเป็นสะพานให้เรากระโดดข้ามสิ่งกีดขวางอุปสรรคไปสู่เป้าหมายที่
ต้องการได้ และหากมันไม่ใช่เกมหรือท่าออกกำลังกาย
การกระโดดกบข้ามคนที่ต้องยอมก้มหัวให้ ยอมเป็นสะพานให้คนกระโดด
คนเป็นสะพานย่อมต้องล้าหลังคนกระโดดและโง่กว่า

นายเนวิน ชิดชอบ เข้าสู่วงการเมืองอย่างเต็มภาคภูมิในปี 2529
เมื่ออายุเพียง 28 ปี
ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์
สังกัดพรรคสหประชาธิปไตยที่มี พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์
เป็นหัวหน้าพรรคซึ่งผู้ที่ใกล้ชิดกับ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา อดีต ผบ.ทบ.
และเป็นกลุ่มทหารอนุรักษนิยมและมีอิทธิพล ได้สร้างฐานอำนาจให้จอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ แต่ต่อมาขัดแย้งกับกลุ่มจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส
จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร
เพราะมีการต่ออายุราชการของจอมพลประภาส ในตำแหน่ง ผบ.ทบ.ซึ่งพล.อ.กฤษณ์
รอคิวอยู่ จอมพลประภาสยอมลงจากตำแหน่ง ผบ.ทอ.ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2516
ก่อนวันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้นเอง

และการไม่ยอมเสริมกำลังให้ขึ้นการบังคับบัญชากับ พ.อ.ณรงค์
กิตติขจร เมื่อเหตุการณ์รุนแรงขึ้นยิ่งก่อให้เกิดรอยร้าวฉานขั้นรุนแรงพล.อ.กฤษณ์
รู้ว่ามีการใช้ความรุนแรงเกินเหตุแล้วยิ่งทำให้ประชาชนโกรธแค้นมากเป็นทวี
คูณและร่วมกับ พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ ร้องขอให้จอมพลถนอม กิตติขจร
สั่งการให้ทหารยุติการใช้ความรุนแรง แต่ไม่มีใครฟังโดยเฉพาะพ.อ.ณรงค์
เหตุการณ์บานปลายเกินการควบคุมได้แล้วเป็นจลาจลเผาบ้านเผาเมือง

ด้วยเพราะ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เคยได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอุตสาหกรรม
จึงทำให้ พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์
มองเห็นช่องทางในการประกอบธุรกิจโรงงานสับปะรดกระป๋องที่จังหวัดประจวบ
คีรีขันธ์ จนมีฐานะเป็นนักอุตสาหกรสามารถสร้างพรรคการเมืองได้
และมีอิทธิพลที่ตกทอดจาก พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา

ส่วนชื่อเนวินนั้น นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนปัจจุบัน
มีความประทับใจในผลงานเผด็จการของนายพลเนวินแห่งพม่า
ที่ทำการปฏิวัติรัฐประหารรัฐบาลนายอูนุ ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2505
รัฐบาลอูนุมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ที่ถูกจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารก่อน 5 ปี แต่ในปี 2505
ทั้งรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ และนายเนวินเป็นเผด็จการทหารด้วยกันทั้งสองรัฐบาล
นายชัย ชิดชอบ จึงตั้งชื่อทายาทคนที่ 3 ของครอบครัวว่า "เนวิน"
จึงเป็นเคล็ดที่น่าสนใจ

เส้นทางชีวิตการเมืองของนายเนวิน เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้
เพราะผ่านประสบการณ์การเมืองมาแล้วประมาณ 7 พรรคการเมืองคือ
พรรคสหประชาธิปไตย พรรคเทิดไทยของนายณรงค์ วงศ์วรรณ
พรรคสามัคคีธรรมของนายณรงค์ วงศ์วรรณ
ที่สร้างพรรคการเมืองรองรับอดีตกลุ่ม รสช.และชนะการเลือกตั้งทั่วไป 22
มีนาคม พ.ศ. 2535 แต่นายณรงค์
ถูกขึ้นบัญชีดำของหน่วยต่อต้านยาเสพติดสหรัฐฯ
พรรคสามัคคีธรรมจึงผลักดันให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร
ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 17 เมษายน แต่ถูกต่อต้านจากกลุ่มเสรีนิยม
และกลุ่มซ้ายจนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
พล.อ.สุจินดาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีรัฐบาลชั่วคราวนำโดย
นายอานันท์ ปันยารชุน กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีวาระที่ 2
เพราะว่ามีการเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์
หัวหน้าพรรคชาติไทยเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์
รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร
และรักษาการประธานรัฐสภาเสนอชื่อ นายอานันท์
แทนเพราะเป็นการเสียหน้าของพรรคหรือเป็นเพราะพล.อ.อ.สมบุญบารมีการเมืองไม่
ถึง

จากกรณีพฤษภาทมิฬพรรคสามัคคีธรรมสลายตัวโดยปริยาย
นายเนวินจึงย้ายพรรคมาสังกัดพรรคชาติไทยในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2535
แม้ผ่านชีวิตการเมืองมาแค่ 6 ปี
แต่ได้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นครั้งแรก
และกระทรวงการคลังเป็นกระทรวงกำหนดยุทธศาสตร์การเศรษฐกิจการเงินของชาติ
อันเป็นช่วงจังหวะที่ข้อตกลงในการประชุมองค์การค้าสากลหรือ Gatt-General
Agreement and Tariffs and Trade ซึ่งในช่วงอุรกัยกราวด์ (Uruguay Round)
รอบที่ 3 ระหว่าง ค.ศ. 1986-1994
นั้นมีข้อพิจารณาในเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญา สินค้าบริการ
การเงินและสินค้าเกษตร

สินค้าบริการประเภทหนึ่ง คือ การประกันภัย
และมีบริษัทข้ามชาติที่ต้องการมาเปิดกิจการในประเทศไทยตามข้อตกลงที่มีการ
อนุญาตให้มีธุรกิจประกันภัยข้ามชาติได้
และกิจการนี้อยู่ในอาณัติของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้รับผิดชอบ
จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตด้วยหลักการและเงื่อนไขต่างๆ
ก็อยู่ในอำนาจของนายเนวินทั้งสิ้น

และได้ย้ายพรรคจากพรรคชาติไทยไปอยู่พรรคเอกภาพ เพราะนายบรรหาร
ศิลปอาชา ยุบสภาในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539
เพราะถูกโจมตีอย่างหนักเรื่องปูมหลังของตระกูล
และประวัติการศึกษาซึ่งนายเนวินก็โดนหางเครื่องด้วยเพราะประวัติการศึกษาที่
สังคมดูว่า "ด้อยไปหน่อย" หรือไม่รู้ที่มาที่ไป
และความไม่ชัดเจนในเรื่องเกรด

แต่ในปี 2540 เข้าสังกัดพรรคเอกภาพ
นายเนวินได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนในปี 2544
ย้ายกลับมาสังกัดพรรคชาติไทยอีกครั้ง
และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกตามเคย
ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในปีต่อมา จนในปี 2547
ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย
และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.
2548 และเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2548
และเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยช่วงนั้นเป็นวิกฤตของทักษิณ
นายเนวินเทใจให้ด้วยความรักภักดีแบบมอบกายใจ

ในชั้นต้นทักษิณไม่ยอมรับนายเนวินที่ถูกเรียกโดยสื่อมวลชนและสังคมชน
ชั้นกลางว่า "ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ" เพราะพฤติกรรมส่อให้เห็นว่า
ทุจริตซื้อเสียงในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2538 ที่จังหวัดบุรีรัมย์
เมื่อตำรวจตรวจพบว่า มีธนบัตรใบละ 20 บาท และใบละ 100
บาทเย็บติดกันเป็นปึกใหญ่มัดรวมกันกับใบแนะนำตัวนายเนวิน
ซึ่งไม่จำเป็นต้องแนะนำตัวเองแล้ว
เพราะตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วงการเมืองไม่เคยเปลี่ยนเขตจังหวัดเลือกตั้ง
จนทุกวันนี้บุรีรัมย์คือฐานสำคัญยิ่งของนายเนวินที่มีอำนาจต่อรองทางการ
เมือง และมีกำไรเสมอมา

จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมและประสบการณ์ทางการเมืองทั้งระดับท้องถิ่น
และโลกาภิวัตน์แล้ว
นายเนวินไม่เป็นสองรองใครแม้กระทั่งทักษิณซึ่งปรามาสนายเนวินว่า
"ไม่ใช่คนมีคุณภาพ เป็นเพียงนักการเมืองท้องถิ่น"
เมื่อแสดงทัศนะขณะหาเสียงเมื่อสถาปนาพรรคไทยรักไทย แต่ความอดทน
ความไวต่อสถานการณ์
และสัญชาตญาณเอาตัวรอดซึ่งเกิดจากประสบการณ์การเมืองระดับท้องถิ่น
ซึ่งมีการเข่นฆ่ากันถึงตายได้ง่ายๆ

แต่ประสบการณ์การเมืองระดับชาติที่นายเนวินซึมซับมาตลอด 23 ปี
ผ่านงานหลายกระทรวง สร้างนวัตกรรมการครอบงำข้าราชการ
และการลักไก่ข้าราชการ การล่อหลอกข้าราชการหลายกระทรวง
ทั้งที่เป็นบัณฑิตภายในประเทศและภายนอกประเทศ
นายเนวินสัมผัสและควบคุมได้อย่างราบรื่นเสมอมา
โดยเฉพาะข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
มีความหลากหลายผลประโยชน์ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน
และมีรัฐวิสาหกิจในอาณัติ 7 องค์การ เช่น องค์การส่งเสริมกิจการโคนม
องค์การสะพานปลา องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร สถาบันวิจัยยาง องค์การสวนยาง
และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เป็นต้น

ถามว่าอุตสาหกรรมยางพารามีความสำคัญ
และมีเงินกองทุนสงเคราะห์มหาศาลขนาดไหนนั้น
นายเนวินรู้ดีเพราะครั้งหนึ่งเคยฟาดฟันแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการฯ
กับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แต่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ได้กินพุงปลาไป แต่นายเนวินขอรับเพียงรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ
ซึ่งดูแลกิจการอุตสาหกรรมยางพาราของชาติเลยทีเดียว

คดีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนายเนวินในขณะนี้คือ
คดีทุจริตกล้ายางพาราซึ่งในวันที่ 19 มิถุนายนนี้
จะเป็นวันสุดท้ายของการสืบพยานจำเลยคดีทุจริตกล้ายางพารา 90 ล้านต้น
มูลค่า 1,440 ล้านบาท ตามที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
อดีตรองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)
และนายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า
กระทำการทุจริตกล้ายางพาราฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
และฮั้วประมูลกล้ายางซึ่งเป็นเรื่องที่
ป.ป.ช.ให้สภาทนายความฟ้องแทนอัยการสูงสุด และเป็นคดีแรกซึ่งเดือนสิงหาคม
พ.ศ. 2552 นี้ศาลอาจจะนัดฟังคำพิพากษาไปประมาณเดือนสิงหาคม

ความสำคัญของนายเนวินที่มีต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เพราะแปรพักตร์พร้อมกับการแถลงข่าวในวันที่ 7 เมษายน
ให้ทักษิณยุติการชุมนุมเพื่อประเทศชาติ ก่อนเกิดสงกรานต์เลือด 2552
แบบท้าชนกับทักษิณและบอกว่า "รัฐ ใหม่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ
และกลุ่มคนเสื้อแดงกล่าวถึงนั้นคืออะไร
และขอร้องให้องคมนตรีลาออกเป็นการก้าวล่วงพระราชอัธยาศัยซึ่งตนถือว่าสำคัญ
กว่าพระราชอำนาจ และถ้าจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องข้ามศพตนไปก่อน"

จึงเหมือนเป็นการให้ทักษิณเป็นฐานก้าวกระโดดเพื่อเรียนรู้กลไก
ทุกอย่างของทักษิณในมิติปฏิญญาฟินแลนด์ 5 ประการ
หรือระบอบธนกิจการเมืองแบบทักษิณ
หรือเพราะสงครามปฏิวัติประชาชนภาคอีสานที่นายเนวินไม่เห็นด้วยเพราะผ่านร้อน
ผ่านหนาวมามากกว่าทักษิณซึ่งปรามาสไว้
แต่ตอนหลังคิดว่านายเนวินคือทหารเอกเลยทีเดียวทำให้กลุ่มเสื้อแดงแค้นใจมาก
ด่าว่าเป็นคนทรยศต่อผู้มีพระคุณอย่างทักษิณ

นายเนวินมีประสบการณ์ที่สามารถสร้างอำนาจในการตัดสินใจทางการเมือง
ได้ดีเพราะมีเหตุการณ์ความรุนแรง
การสร้างพลังมวลชนป่วนเมืองในยุคพฤษภาทมิฬ และการใช้ตัวแปรอื่นๆ
ขัดตราทัพ เป็นบทเรียนให้เป็นแบบอย่าง
ไม่มีข้อพิสูจน์ว่านายเนวินบัญชาการกลุ่มคนเสื้อน้ำเงิน
แต่คลิปภาพที่ปรากฏเห็นนายเนวินซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ในเขตกวนเมืองของเสื้อ
แดงที่บุกโรงแรมโรยัลคลิฟ ล้มการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อวันที่ 12
เมษายน ที่ผ่านมา
ทุกตำราพิชัยสงครามจะเรียกว่าเป็นการตรวจแนวรบเพื่อประมวลและประเมิน
สถานการณ์ของแม่ทัพ
และเป็นสิ่งจำเป็นด้วยสำหรับแม่ทัพที่สามารถจะทำเช่นนี้

พลัง การเมืองของนายเนวินที่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายทหารแม้จะเคยเป็นทหารมาก่อน
และการฝังตัวในพรรคภูมิใจไทย
ประสบการณ์และไหวพริบทักษะทางการเมืองของนายเนวิน
จึงเป็นอำนาจและอาวุธทางการเมืองที่สามารถเจาะทะลุคำปรามาสของคนกรุง
และชนชั้นกลางในแนวคิดประชานิยมกลางกรุงด้วยโครงการรถก๊าซเอ็นจีวี
และประสบการณ์ทางการเกษตรของนายเนวินจะเป็นสิ่งที่สร้างประชานิยมจนสามารถ
บรรลุผลเป็นพรรคการเมืองขนาดพอดีที่จะต่อรองกับพรรคใหญ่ได้อย่างมีกำไรใน
อนาคต และนายเนวินเองคงจะสมใจแค่เป็นคนชักหุ่นอยู่เบื้องหลัง
หรือเป็นวิทยากรที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทยต้องฟังและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด


nidd.riddhagni@gmail.com


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000066147

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น