++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เวทีนโยบาย:'บำนาญแห่งชาติ' นวัตกรรมที่เข้าถึงใจประชาชน

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ


ระบบบำนาญแห่งชาติ (กบช.) นับว่าครบถ้วนองค์ประกอบของกระบวนการนวัตกรรม
ด้วยเกิดจากความคิดสร้างสรรค์สร้างหลักประกันด้านรายได้สำหรับผู้สูงอายุไทย
ถ้วนหน้าที่ผสมผสานอย่างลงตัวกับโอกาสที่เปิดกว้างของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.
2550 มาตรา 84 (4)
ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจด้วยการจัดให้มีการออมเพื่อ
การดำรงชีพยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึงเพื่อรองรับ
โครงสร้างประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและอายุขัย

ในห้วงขณะคนไทยส่วนใหญ่ไร้หลักประกันยามชราภาพ
โอกาสสานฝันประชาชนคนปลายอ้อปลายแขมได้มีช่วงชีวิตไม่ต้องกระเสือกกระสน
ดิ้นรนปากกัดตีนถีบเพราะมีหลักประกันรายได้ในยามร่วงโรยโดยอาศัยเจตนารมณ์
กฎหมายสูงสุดที่กำหนดให้รัฐบาลต้องส่งเสริมให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
มีการออมรูปแบบต่างๆ
เพื่อการดำรงชีพยามชราภาพเป็นใบเบิกทางสำคัญเช่นนี้ย่อมแผ้วถางหนทางการเข้า
มามีส่วนร่วมของประชาชนบนความสมัครใจมากกว่าถูกบีบบังคับได้

ถึงแม้นว่าอนาคตสาธารณชนวงกว้างจะขานรับนวัตกรรมนี้ด้วยความยินดี
ยิ่ง ทว่าทางปฏิบัติก็ต้องรอการตัดสินใจจากผู้กุมอำนาจที่มักมองนโยบายผ่านแว่น
คะแนนนิยมทางการเมืองเหนืออื่นใด

ดังนั้นต่อให้คำตอบของคำถามว่าความคิดนี้มีคุณค่าต่อประชาชนหรือไม่
เข้ากันได้กับยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของมนุษย์หรือไม่
หรือสมเหตุสมผลในแง่ต้นทุนหรือไม่ จะเป็นไปในทาง 'บวก' ทั้งสิ้น
ทว่าท้ายสุดประชาชนก็คงต้องร้องเพลงรอต่อไป
เนื่องด้วยนักการเมืองมักจะกังวลว่าระบบบำนาญแห่งชาติจักทอนพลังนโยบายประชา
นิยมแจกฟรีที่ครองใจผู้คนไปในที่สุด

อย่างไรก็ดี
ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติจนสามารถตอบโจทย์สังคมสูงอายุ
และฐานะการเงินการคลังได้มากกว่ารัฐบาลที่ยังคงหลงเดินหน้าเบี้ยยังชีพผู้
สูงอายุต่อไปด้วยไม่เคยเรียนรู้อดีตและปัจจุบันที่ท่วมท้นปัญหานานัปการนับ
แต่หลักเกณฑ์คัดเลือกผู้สูงวัยจนถึงวิธีจ่ายรายเดือน
ก็ต้องหนักแน่นอดทนบ่มเพาะความคิดว่าด้วย 'นวัตกรรมบำนาญแห่งชาติ'
ต่อไปให้ถึงจุดที่ผู้มีอำนาจจะประเมินนวัตกรรมนั้นด้วยเหตุผลมากกว่าคะแนน
นิยมทางการเมือง

แม้ว่าระบบบำนาญแห่งชาติจากการระดมความคิดสร้างสรรค์ของภาคประชา
สังคมจะไม่ใช่นวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจากเดิมโดยสิ้นเชิง
(Radical innovation) ไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดในโลก
หากแต่ก็เป็นนวัตกรรมส่วนเพิ่ม (Incremental innovation)
ที่ปรับปรุงจากระบบบำนาญเดิมที่มีอยู่แล้วในไทยทั้งในส่วนของภาครัฐและชุมชน
ต่างๆ โดยขยายจุดมุ่งหมายให้ครอบคลุมผู้สูงวัยไทยทุกคน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง
ระบบบำนาญแห่งชาติจะเสริมสร้างศักยภาพกองทุนชุมชนทั่วไทยที่ลงมือทำบำนาญ
ชราภาพไปแล้ว กำลังจะลงมือทำ
หรือไม่เคยมีความคิดจะทำเลยเพราะมุ่งเฉพาะสวัสดิการชุมชน เช่น
เงินฌาปณกิจสงเคราะห์ และเงินทุพพลภาพ
ให้มีความเข้มแข็งขึ้นมากจากการมีหลักเกณฑ์กติกาการจ่ายเบี้ยบำนาญรอบคอบสอด
รับกับพลวัตสังคมสูงอายุไทย

เพราะถ้าไร้หลักเกณฑ์รัดกุม
กองทุนชุมชนก็จะล้มละลายตามการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์เมื่อถึงช่วงเวลาจ่าย
บำนาญชราภาพงวดละมหาศาลในอนาคต
อันเนื่องมาจากโครงสร้างประชากรในชุมชนมีสัดส่วนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น
ขณะหนุ่มสาววัยแรงงานลดลง
และที่สำคัญคำสัญญาว่าจะจ่ายเงินบำนาญจำนวนแน่นอนตามสูตรที่กำหนด
(Defined benefit)
แทนการจ่ายบำนาญตามจำนวนเงินที่จ่ายเข้ากองทุนรวมกับผลประโยชน์ที่ได้จากการ
ลงทุน (Defined contribution) อันเป็นบัญชีรายบุคคล

การ ปรับรูปแบบบำนาญจาก Defined benefit เป็น Defined
contribution จะสามารถรักษาสถานภาพมีชีวิตของกองทุนชุมชนได้ด้วยเข้าไปเสริมสร้างความมั่น
คงยั่งยืนภายใน

ในห้วงขณะนี้
ระบบบำนาญแห่งชาติไม่น่าติดขัดเรื่องเทคนิคการบริหารจัดการเท่ากับเจตจำนง
ทางการเมือง (Political will) ของกลุ่มกุมอำนาจ
และกระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจสู่สาธารณชนว่าจะสามารถแปลงตัวเลข
สลับซับซ้อนเกี่ยวกับจุดดีของนวัตกรรมนี้ให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจ
และตระหนักถึงความสำคัญว่าทำไมถึงสร้างความมั่นคงหลังอายุ 60
ปีให้พวกเขาได้

ในหลายทางออกนั้น
หนึ่งวิธีคือต้องสร้างนวัตกรรมส่วนเพิ่มอย่างยาวนานต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพูน
ประสิทธิภาพการดำเนินงาน ขณะเดียวกันก็ลดต้นทุนการบริหารจัดการลง
จนกระทั่งสามารถนำพาบำนาญแห่งชาติเข้าครองหัวใจประชาชน
ตลอดจนสังคมและรัฐบาลยอมรับกว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

โดยห้วงยามเปลี่ยนผ่านจากเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่
รัฐบาลแจกฟรีมาเป็นระบบบำนาญแห่งชาติที่ประชาชนเก็บหอมรอมริบเงินทองของตน
เองโดยรัฐบาลร่วมสมทบในวงเงินเท่าๆ กับที่เคยใช้จ่ายเบี้ยยังชีพ
นอกจากจะทลายความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลที่เปลี่ยนไปในแต่ละชุดได้แล้ว
ยังฟื้นคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้สูงอายุไทยที่เคยถูกสังคมและครอบ
ครัวติดฉลากว่าเป็นภาระหนักอึ้งได้ด้วยจากการมีเงินทองส่วนตัวไว้ใช้ใน
ปริมาณมากกว่าครึ่งพันที่เบี้ยยังชีพให้

ทั้งนี้ การสร้างสรรค์นวัตกรรมส่วนเพิ่มอย่างเป็นระบบจะขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ
ก้าวไปในทิศทางถูกต้องบนถนนสายนวัตกรรมที่เน้นหนักหลัก 'Simple is the
best' เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน ตัดทอนการเพิ่มเติมสิ่งที่ไม่จำเป็น
กระทั่งผลิผลผลิตเป็นระบบบำนาญแห่งชาติที่เปิดกว้างทั้งด้านช่องทางเข้าถึง
(Access) และทางเลือก (Choice)
แก่ประชาชนให้สามารถเลือกลงทุนตามศักยภาพได้

กระนั้นการเคลื่อนขับระบบบำนาญแห่งชาติก็จำเป็นต้องรอรัฐบาลให้สร้าง
กระบวนการที่เป็นนวัตกรรมเข้ามารองรับก่อน
โดยต้องกระทำมากกว่าพันธสัญญาทางการเมืองเหมือนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
ด้วยการกำหนดเป็นนโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของมนุษย์ว่าด้วยการ
ออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ในยามชราภาพตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

ไม่เช่นนั้นนอกจากจะดึงดูดผู้คนให้หันมาสร้างวัฒนธรรมการออมไม่ได้
แล้ว ต้นทุนการบริหารจัดการยังเสี่ยงสูงเกินกว่าประชาชนจักยอมรับด้วย
เนื่องจากเกรงจะประสบชะตากรรมเหมือนดังหลายกองทุนของรัฐที่ขาดธรรมาภิบาล
ด้านการบริหารจัดการ นำเงินสมาชิกไปลงทุนจนขาดทุนย่อยยับ

การสร้างนวัตกรรมในกระบวนการและการบริการที่รวดเร็วกว่าทว่าต้นทุน
ต่ำกว่าจะทำให้ระบบบำนาญแห่งชาตินี้ได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนผู้ประเมิน
ด่านสุดท้ายว่าดีกว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เนื่องด้วยนวัตกรรมใหม่นี้มีโอกาสมากมายในการปรับปรุงให้ดีขึ้นจนถึงจุดที่
สามารถเข้ามาแทนที่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ครองตลาดวัยชราได้
ไม่เหมือนกับเบี้ยยังชีพที่ถึงจุดอิ่มตัว พัฒนาการไม่มี
อย่างดีที่สุดก็แค่การหาเสียงว่าจะให้ถ้วนหน้าและสัญญาว่าจะจ่ายมากกว่า
500 บาท/คน/เดือน

เมื่อ นวัตกรรมบำนาญแห่งชาติครองตลาด
อนาคตเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็คงจะจำกัดอยู่ในกลุ่มคนเฒ่าคนแก่คับแค้นขัดสน
ที่ต้องการจริงๆ เท่านั้น
หาใช่ให้ถ้วนหน้าแบบไม่เลือกคนรวยล้นฟ้ากับจนติดดินดั่งปัจจุบันนี้
อีกทั้งต่อให้เพิ่มเม็ดเงินก็ไม่มีทางข้ามพ้นเส้นความยากจนของประเทศไทยไป
ได้

ในมุมรัฐที่เป็นผู้บริหารจัดการระบบบำนาญแห่งชาติ
การปรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาสมทบออมร่วมกับประชาชนบนสายพานนวัตกรรม
นี้น่าจะเสริมสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้นานที่สุดของผู้สูงอายุ
(Active and Productive Ageing)
รวมถึงลดทอนความเสี่ยงที่รัฐบาลจะถังแตกเสียเองจากการจ่ายเบี้ยยังชีพถ้วน
หน้านับหมื่นแสนล้านบาท/ปีในอนาคต

แต่การไม่เลิกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทันที
ทว่าลงทุนในระบบบำนาญแห่งชาติควบคู่กันไปด้วยก็จะตอบสนองความต้องการมีหลัก
ประกันรายได้ในยามชราของประชาชนและเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ปรารถนาสร้าง
วัฒนธรรมการออมได้
ด้วยระหว่างพัฒนานวัตกรรมนี้ได้ใช้การออกแบบที่เข้าถึงใจคน (Empathetic
design) โดยการสังเกต เก็บข้อมูล ทบทวนวิเคราะห์ ระดมความคิดเห็น
และพัฒนาระบบต้นแบบ จากประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย
โดยเฉพาะคนปลายอ้อปลายแขมเป็นสำคัญ

ด้วย เหตุนี้รัฐบาลควรเร่งรีบ 'ซื้อไอเดีย'
นวัตกรรมบำนาญแห่งชาติที่ออกแบบได้ถึงใจประชาชนทุกกลุ่ม
โดยเฉพาะวัยรุ่นปัจจุบันที่จะได้หลอมรวมตัวเป็นฟันเฟืองพัฒนาเศรษฐกิจ
สังคม และประชาธิปไตยได้โดยไม่ต้องพะวักพะวงวันข้างหน้าว่าแก่เฒ่าแล้วจะพอมีกิน
หรือไม่ ด้วยมีหลักประกันรายได้ในยามชรารองรับแล้ว

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org


++

ขออนุญาตแสดงความไม่เห็นด้วย ระบบบำนาญแห่งชาติ ระบบบำนาญแห่งชาติ
จะต้องให้ปชช ทุกคนต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนทุกเดือน เพิ่มภาระให้ประชาชน
เปรียบเสมือน ปชชทุกคนเข้าสู่ระบบกองทุนแบบเดียวกับประกันสังคม
ที่นักการเมืองแย่งกันเข้ามาดูแล สำนักประกันสังคม
การบริหารกองทุนบำนาญแห่งชาติอาจเปิดโอกาสให้มีการเบิกจ่ายทุจริต
เพราะไม่มีใครไปตรวจสอบ หรือ นำเงินกองทุนไปปั่นหุ้น เหมือนอย่างกบข
ประชาชนรอจนแก่ ได้เงินก้อนไปนิดนึ่ง
แต่ค่าของเงินตอนที่รับเงินตอนเกษียณ มีค่าน้อยกว่า ค่าเงินที่ ปชช
ต้องจ่ายทุกเดือน สิ่งที่ปชชได้รับจะ ไม่คุ้มค่า ต่อสิ่งที่ปชชต้องจ่าย
เผลอตอนเกษียณไม่มีเงินจ่ายคืนปชช เหมือนในอเมริกา ก็เกิดปัญหานี้
ปัจจุบันปชช มีสวัสดิการจากบัตรทองดีอยู่แล้ว
ถ้าหากมีกองทุนบำนาญแห่งชาติอาจจะเป็นการยกเลิกสิทธิในการใช้บัตรทอง
เท่ากับเป็นการสดสวัสดิการของปชช
นักการเมืองมักจะให้ข้อมูลประชาชนเพียงด้านเดียว ไม่ได้ให้ข้อมูลรอบด้าน
มักจะขายความหวังในอนาคต ให้ประชาชน แต่ให้ปชช ต้องจ่ายทันที
ระบบนี้ถ้าจะเกิดขึ้นขอให้เป็นแบบสมัครใจ ไม่ควรออกกฎหมายบังคับปชชทุกคน
อย่าขายความหวังในอนาคต และอย่าเพิ่มภาระประชาชน
++
บ้านเมืองเราถ้ายังปราบปรามและลงโทษพวกคดีคอรับชั่นในหน่วยงานรัฐและราชการ
ต่างๆได้ไม่เด็ดขาดอย่างถ้วนหน้าก็อย่าไปหวังไรเลย
ปชช.สูงอายุตามชุมชนในกทมอย่างในแถวชุมชนที่เราอยู่ยังติดอบายมุขงอมแงม...
เพราะเจ้าหน้าที่มีส่วนรู้เห็นอยู่ด้วย
แล้วจะเปลี่ยนความคิดของคนเหล่านี้ได้อย่างไรให้หันมาออมอย่างที่บอก...
แล้วจะคุ้มหรือเปล่าในอนาคตกับค่าเงินที่ได้คืนมา...กลัวจะเหมือนแบบความ
เห็นที่ 1 บอกนั่นแหละ
000

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น