++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552

จะปฏิรูปหรือจะปล้นรถไฟกันแน่?

โดย สิริอัญญา


กำลังบ่ายเบี่ยงเลี่ยงถ้อยบาลีหนีการใช้ถ้อยคำว่า "แปรรูป" กันจ้าละหวั่น
จนทำให้กรณีมติคณะรัฐมนตรีแยกสลายกิจการรถไฟของประเทศไทย
เกิดการสับสนงงงวยแล้วยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก
กระทั่งไม่รู้ว่าจะทำอะไรกันต่อไป

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
แถลงว่ากรณีเรื่องรถไฟนั้นไม่ใช่การแปรรูป แต่เป็นการปฏิรูป
เพื่อประโยชน์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และจะไม่มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี
ซึ่งเป็นสุ้มเสียงอย่างเดียวกันกับนายโสภณ ซารัมย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

เป็น สุ้มเสียงเดียวกันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เมื่อครั้งเดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วออกปากรับประกันว่าการดำเนินโครงการ
สนามบินสุวรรณภูมิของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในยุคนั้นไม่มีการทุจริต
ใดๆ

หลังจากรับประกันคราวนั้นแล้ว
รัฐบาลพรรคไทยรักไทยก็ถูกประจานขรมไปทั้งบ้านทั้งเมืองและทำให้อำนาจรัฐของ
ระบอบทักษิณค่อยๆ ย่อยสลายประดุจดังเจดีย์ทรายต้องห่าฝนฉะนั้น

จะต้องติดตามดูกันต่อไปว่า เมื่อแนวความคิดของนายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ กับนายโสภณ ซารัมย์ จูนเข้ากัน
และเดินหน้าทำในสิ่งที่พยายามบอกประชาชนว่าปฏิรูปการรถไฟฯ
ไม่ใช่แปรรูปการรถไฟฯ แล้ว สถานการณ์ของรัฐบาลนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป
จะซ้ำรอยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่

เพราะ ในวันนี้นายกรัฐมนตรีก็ยอมรับผลการสำรวจความนิยมแล้วว่ารัฐบาลสอบตก
และยอมรับว่าที่เป็นเช่นนั้นเกิดจากเหตุการณ์เกาเหลาและการทุจริตในรัฐบาล

ใครเกาเหลากันอย่างไร และใครทุจริตอย่างไร
เมื่อคนระดับนายกรัฐมนตรีพูดอย่างนี้
ก็ยืนยันความจริงที่ผู้คนรู้กันทั้งแผ่นดิน
แต่ที่จะต้องติดตามกันต่อไปก็คือเมื่อรู้แล้ว พูดแล้ว จะทำอย่างไรต่อไป
จะปล่อยให้การเกาเหลาและการทุจริตกัดบ้านกินเมืองที่เกิดขึ้นในรัฐบาลดำเนิน
ต่อไป หรือจะกำจัดหรือแก้ไขประการใดต่อไป

ตรง จุดนี้แหละจะเป็นจุดพิสูจน์ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
จะเป็นนายกรัฐมนตรีในดวงใจของประชาชนหรือไม่
ซึ่งได้แต่หวังว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะไม่ทำให้คนไทยผิดหวัง
จะไม่ทำให้ดินโศกเศร้า ฟ้ากำสรวล
ซึ่งนั่นหมายถึงสรรพวิบัติที่จะบังเกิดมีขึ้นแก่ตนและรัฐบาลในอนาคตอันไม่
ไกล

กรณีเรื่องราวเกี่ยวกับการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เกิดความขัดแย้งถึง
ขั้นหยุดการเดินรถทั่วประเทศนั้นมีมาตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่
3 มิถุนายน 2552 ให้แยกสลายกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทยออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรก เป็นส่วนของการลงทุน เป็นส่วนของรายจ่ายหลักของกิจการรถไฟ
คือการก่อสร้างราง การก่อสร้างสถานี และการสร้างไฟสัญญาณต่างๆ
ในการเดินรถ รวมทั้งการบริหารจัดการดูแลรางรถไฟให้ใช้การได้ดีและปลอดภัยอยู่เสมอ

ส่วนนี้มีแต่รายจ่ายอย่างเดียว มีแต่การลงทุนอย่างเดียว
คณะรัฐมนตรีมีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรับผิดชอบต่อไป
ทำงานเรื่องนี้ต่อไป
ซึ่งเกิดผลอย่างเดียวก็คือการรถไฟแห่งประเทศไทยในอนาคตจะมีแต่รายจ่ายและขาด
ทุนอย่างเดียวเท่านั้น เพราะไม่มีรายได้เหมือนที่เป็นอยู่
แล้วภาระทั้งหมดนั้นก็ต้องตกแก่ประชาชนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

ส่วนที่สอง เป็นส่วนรายได้ในกิจการโดยตรงของการรถไฟแห่งประเทศไทย
คือการเดินรถไฟ ทั้งรถไฟขนคนโดยสาร รถไฟขนสินค้า
การเดินรถสายแอร์พอร์ตลิ้งค์
การเดินรถไฟฟ้าทั้งหลายที่กำลังเกิดขึ้นและที่จะมีขึ้นในอนาคต
รวมความก็คือกิจการอันเป็นรายได้ของกิจการรถไฟทั้งในปัจจุบันและอนาคตนั้น
คณะรัฐมนตรีท่านให้แยกออกไปเป็นของบริษัทซึ่งจะจัดตั้งขึ้น
ดังนั้นบริษัทนี้จึงมีแต่กำไรสถานเดียว
และเป็นผู้คุมอำนาจในการเดินรถไฟหรือการเดินรถด้วยรางทั่วประเทศทั้งใน
ปัจจุบันและในอนาคต

ส่วนที่สาม เป็นส่วนทรัพย์สินที่สามารถหาประโยชน์จำนวนมหาศาล
เป็นที่ดินพระราชมรดกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระผู้สถาปนาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้พระราชทานไว้ให้
เพื่อให้หาประโยชน์บำรุงเลี้ยงรถไฟ
และใช้สอยในกิจการรถไฟเพื่อทำให้ต้นทุนต่ำลง
อันจะส่งผลให้พสกนิกรลูกหลานของพระองค์ท่านในอนาคตเสียค่าโดยสารและค่าใช้
จ่ายถูกกว่าปกติ ที่ดินส่วนนี้ในอดีตมีเนื้อที่กว่า 400,000 ไร่
แต่ถูกแย่งยึดโกงเอาไป เหลืออยู่เพียง 250,000 ไร่
ในจำนวนนี้เป็นที่ดินสองข้างทางรถไฟประมาณ 200,000 ไร่
และเป็นที่สำหรับหาประโยชน์มาลดต้นทุนให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยอีกประมาณ
50,000 ไร่ ซึ่งคุณเปลวสีเงินได้ประเมินราคาไว้ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ประจำวันที่ 24 มิถุนายน 2552 ว่ามีราคา 3 ล้านล้านบาท

คณะรัฐมนตรีให้โอนทรัพย์สินคือที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยอันเป็น
พระราชมรดกที่พระราชทานไว้ทั้งหมดไปให้อีกบริษัทหนึ่งซึ่งจะจัดตั้งขึ้น

แล้ว คณะรัฐมนตรียังมีมติต่อไปอีกว่าให้ตั้งบริษัททั้งสองนี้ภายใน
30 วัน ให้แยกและโอนกิจการและทรัพย์สินในส่วนรายได้และทรัพย์สิน
รวมทั้งผลประโยชน์ทั้งหมดไปให้สองบริษัทนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน
หลังจากนั้นจึงให้กำหนดบทบาทของเอกชนที่จะเข้ามาบริหารจัดการกิจการของทั้ง
สองบริษัทนี้ เท่ากับคณะรัฐมนตรีออกเช็คเปล่าไว้
ให้ไปใส่ตัวเลขกันเอาเองในอนาคตหลังจากได้รับกิจการและทรัพย์สินในส่วนที่
เป็นรายได้และผลประโยชน์ไปหมดแล้ว

แล้วถามว่ามติคณะรัฐมนตรีแบบนี้จะลดการขาดทุนหรือป้องกันการล้างผลาญ
ฉ้อฉลปล้นการรถไฟแห่งประเทศไทยแบบที่เกิดขึ้นตลอดมาได้หรือไม่

ยิ่งกว่านั้น
ยังระบุไว้อีกว่าให้บริษัทเดินรถสามารถปรับปรุงค่าโดยสารได้
ซึ่งหมายความว่าประชาชนผู้ใช้บริการจะต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น

นี่คือขั้นตอนแรกของการแปรรูป ไม่ใช่การปฏิรูปปฏิกูลอะไรทั้งสิ้น
และเป็นการแปรรูปชนิดที่ทิ้งภาระมหาศาลให้กับประเทศชาติและประชาชนแบกรับ
โดยขั้นต้นนี้ก็ต้องตั้งงบประมาณจากภาษีของประชาชนไปใช้หนี้ผลขาดทุนที่
สั่งสมกันมาร่วม 70,000 ล้านบาท
และยังต้องจัดเงินเพื่อจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานอีกเกือบ 20,000
ล้านบาท และในอนาคตจะต้องจ่ายกันอีกเท่าใดก็ยังไม่มีใครรู้

ส่วน บริษัททั้งสองที่ตั้งขึ้นนั้น
เมื่อกำหนดทุนเป็นเรือนหุ้นก็สามารถเพิ่มทุนและกระจายหุ้นออกขายแบบเดียวกับ
ที่เคยเกิดขึ้นกับ ปตท. กฟผ. และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ นั่นเอง

จากนั้นก็เอาเข้าไปขายในตลาดหุ้น
โดยที่ประชาชนเจ้าของประเทศคงได้แต่มองตาปริบๆ
เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับ ปตท. อย่างไร ก็ย่อมเกิดขึ้นกับบริษัท 2
บริษัทที่รับโอนกิจการและทรัพย์สินอันเป็นผลประโยชน์ไปจากการรถไฟแห่งประเทศ
ไทยนั่นเอง

และวิธีการนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร
มันเป็นปฏิบัติการตามแผนการแปรรูปการรถไฟแห่งประเทศไทยที่รัฐบาลพรรคประชา
ธิปัตย์เคยจัดทำไว้ในช่วงปี 2541 นั่นเอง

แผนที่จัดทำไว้ในคราวนั้นเรียกว่าแผนการแปรรูปการรถไฟแห่งประเทศไทย
มีทั้งสิ้น 5 ขั้นตอน
และมติคณะรัฐมนตรีนี้ดูให้ดีเถิดก็จะเห็นถึงขั้นตอนทั้ง 5 ขั้นตอนนั่นเอง

คือ การกำหนดแยกกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทยออกเป็น 3 ส่วน,
การตั้งบริษัทลูก 2 บริษัท, การประเมินและแยกทรัพย์สิน หนี้สิน
เพื่อจะโอนให้กับบริษัทลูกทั้ง 2 บริษัท,
การโอนทรัพย์สินและกิจการให้แก่บริษัทลูกทั้ง 2 บริษัท
และการกำหนดบทบาทเอกชนที่จะเข้ามาบริหารกิจการของทั้ง 2 บริษัท
หลังจากได้รับโอนกิจการและทรัพย์สินไปเรียบร้อยแล้ว รวมเป็น 5
ขั้นตอนเหมือนกันเปี๊ยบ!

ดังนั้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552
ก็คือมติแปรรูปการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามแผนการที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2541
เหตุนี้ถึงแม้ใครต่อใครจะบิดเบือนเรียกว่าการปฏิรูปหรือการปฏิกูลหรือ
ปฏิสังขรณ์เพื่อให้ดูดี หรือเพื่อให้ประชาชนไม่ระแวงจะเกิดเหตุซ้ำรอยแบบ
ปตท. อีก แต่เนื้อแท้มันก็คือการแปรรูปสลายกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ที่มีอนาคตจะถูกปล้นสะดมไปเป็นประโยชน์ของกลุ่มก๊วนทางการเมืองเช่นเดียวกับ
ปตท. นั่นเอง

ดังนั้นการที่สหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทยไปได้ข้อมูลมาอย่าง
ชัดเจนว่าหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติไม่ถึงสัปดาห์
ไอ้โม่งการเมืองก็จัดการตั้งบริษัทลูก 2 บริษัทเรียบร้อยแล้ว
และวางลิ่วล้อบริวารเตรียมงาบกิจการรถไฟกันอย่างเงียบงัน
และไม่มีใครฟังเสียงท้วงติงของชาวสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทย
จึงต้องใช้วิธีการหยุดเดินรถไฟทั่วประเทศ
จึงเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและเป็นความเสียสละอย่างยิ่ง

จึง ขอสดุดีวีรกรรมของชาวสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทยไว้ ณ
ที่นี้ ที่สามารถขัดขาการแปรรูปการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ฉ้อฉลปล้นประเทศชาติและ
ประชาชนไว้ได้ชั่วคราว
ซึ่งประชาชนชาวไทยทั้งประเทศจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันพิทักษ์รักษาทรัพย์
สมบัติแผ่นดินอันเป็นพระราชมรดกนี้ไว้ด้วยชีวิตสืบไป.

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000071854

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น