++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เชื่อหรือไม่? เรียนฟรีมีจริง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์




รายงานพิเศษโดย....สุกัญญา แสงงาม

"นโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ไม่ฟรีจริงนี่หว่า
โรงเรียนยังเรียกเก็บค่าโน่นค่านี่ รวมๆ กันก็หลายพันบาท"

"ไม่เห็นค่าใช้จ่ายลดลงเลย แถมยังจ่ายสูงกว่าปีก่อน
โรงเรียนอ้างสารพัด "พิเศษ" สอนพิเศษ กิจกรรมพิเศษ จ้างครูต่างชาติ"

"เปลี่ยนชื่อนโยบายเรียนฟรี 15 ปี
เป็นนโยบายช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา 15 ปี
ดีกว่าหลอกประชาชนว่าฟรี
ความหมายตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตฟรีต้องไม่เสียสตางค์"

นี่คือ เสียงบ่นของผู้ปกครองโทรมาโวยวายที่สายด่วน 1579 จนสายแทบไหม้
เสียงสะท้อนนโยบายเรียนฟรี 15 ปี "ไม่ฟรีจริง" เริ่มหนาหู
กระทั่งผู้บริหารฝ่ายการเมืองนั่งไม่ติดเก้าอี้
ขอความร่วมมือฝ่ายข้าราชการประจำโยนหินถามทางว่าหากจัดการศึกษาฟรีแบบไม่
เก็บเงินแม้แต่บาทเดียว รัฐบาลต้องควักกระเป๋าเท่าไหร่

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เลือกโรงเรียน 3 แห่งคือ ร.ร.จันทร์หุ่นบำเพ็ญ ร.ร.สวนอนันต์ และ
ร.ร.พุทธจักรวิทยา นำร่องการศึกษาฟรีแบบผู้ปกครองไม่ต้องจ่ายสตางค์
โดยเบื้องต้นเติมเงินให้โรงเรียนใช้บริหารสถานศึกษาละ 2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่นโยบายนี้จะออกมานั้น "ร.ร.ทีปังกรวิทยาพัฒน์
(ทวีวัฒนา) ในพระราชูปถัมป์"จัดให้นักเรียนเรียนฟรีมา 3 ปีแล้ว

"ชัยอนันต์ แก่นดี" ผอ.ร.ร.ทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา)
ในพระราชูปถัมภ์ เล่าให้ฟังว่า เข้ารับตำแหน่งในปี 2549
ตอนนั้นโรงเรียนมีเด็กไม่กี่ร้อยคนและเกือบ 100%
ฐานะยากจนหรือมีรายได้รวมกันทั้งครอบครัวไม่ถึง 6 หมื่นบาทต่อปี
รวมทั้งจำนวนไม่น้อยมีปัญหาในเรื่องความอบอุ่นของครอบครัว
ซึ่งจากสภาพความเป็นอยู่ดังกล่าวทำให้เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยง
เด็กหลายคนขาดเรียนบ่อย

"ผม และครูจึงไปเคาะประตูบ้านนักเรียนเพื่อสอบถามสาเหตุพบว่าเด็กต้องหยุดไปรับ
จ้าง นำรายได้ที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงมาซื้อชุดนักเรียน หนังสือเรียน
เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ พอรับทราบปัญหาก็จุดประกายให้ผมมีแนวคิดจัดเรียนฟรี
โดยใช้เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนที่รัฐบาลจัดให้มาบริหารสถานศึกษา
พร้อมกับยึดแนวทางการบริหารแบบเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่
หัว"

"ผมนำแนวคิดนี้ไปปรึกษากับคณะกรรมการสถานศึกษา
แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ผมบอกว่าลองดูก่อนเพราะอยากเห็นอนาคตของเด็ก
และผมให้สัญญาว่าจะผลักดันให้ผลการเรียนของเด็กดีขึ้นด้วย
ในที่สุดคณะกรรมการก็ตกลง ส่วนอาจารย์ ผมก็ขอความร่วมมือ
โดยบอกว่านับจากนี้ไปคงต้องทำงานหนักกันหน่อยนะเพื่ออนาคตของลูกศิษย์
พวกเราทุกคนไปตามเด็กให้กลับมาเรียน
พยายามโน้มน้าวนักเรียนว่าเรียนจบมัธยม ต่อไปจะหางานดีๆ ทำ
สำหรับนักเรียนคนไหนมีปัญหาด้านการเงินและต้องออกไปรับจ้างโดยทำงานหนักเกิน
ไป ทางโรงเรียนก็จ้างให้เด็กทำงานแทนโดยจ่ายแรงให้เด็กวันละ 200 บาท เช่น
ขายน้ำให้เพื่อนนักเรียนช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน หรือทำงานอื่นๆ
ที่คิดว่าเขาจะทำได้"

ผอ.อนันต์ เล่าต่อว่า เมื่อแก้ปัญหาแรกจบ
ก็มีปัญหาใหม่มาเพิ่มความหนักใจให้อีกเพราะผลการเรียนของเด็กโดยภาพรวมค่อน
ข้างต่ำ จึงตัดสินใจควักกระเป๋าใช้เงินส่วนตัวไปเช่าห้องแถว 2 คูหา
เดือนละ 5 พันบาทเพื่อเปิดสอนพิเศษให้นักเรียนฟรี
โดยขอความร่วมมือจากครูมาสอนหลังเลิกเรียน
รวมทั้งอาศัยความสนิทสนมกับอาจารย์ ร.ร.สวนกุหลาบ
และอาจารย์โรงเรียนดังที่เกษียณไปแล้วเชิญมาช่วยสอนพิเศษหลังเลิกเรียนด้วย
ขณะเดียวกันให้รุ่นพี่ช่วยติวให้รุ่นน้องและเปิดชั่วโมงติวให้เด็กที่อยู่
ป.6 แล้วกำลังจะศึกษาต่อชั้น ม.1 จนผลสัมฤทธิ์ค่อยขยับขึ้น

กระทั่งต่อมาภายหลังเจ้าของห้องแถว ทราบว่า
โรงเรียนเช่าเพื่อใช้ทำอะไร ก็ให้ใช้ฟรีโดยไม่คิดสตางค์

"จากโรงเรียนที่ถูกเมิน วันนี้โรงเรียนมีนักเรียนมากกว่า 1,700 คน
นี่ผมมีแผนบริหารสถานศึกษาเพื่อให้เป็นโมเดลเรียนฟรี
เพื่อให้รัฐบาลรู้ว่าหากจัดเรียนฟรี รัฐต้องสนับสนุนจำนวนเท่าไหร่
ช่วยเหลืออะไรบ้างด้วย"

ทีนี้ ก็มาถึงโรงเรียนที่กำลังจะถูกทดลองเรื่องเรียนฟรีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย(จริงๆ)
กันบ้างว่าพวกเขามีความคิดเห็นเช่นไร

"ปัญญา สุขะวณิชย์" ผอ.จันทร์หุ่นบำเพ็ญ กล่าวว่า
ด้วยภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณในการบริการสถานศึกษา สื่อการเรียนการสอน
และอื่นๆ ทำให้จำเป็นต้องเก็บเงินบำรุงการศึกษาประมาณคนละ 1,700
บาทต่อเทอม มาจ้างครูต่างชาติ จัดหาคอมพิวเตอร์ให้แก่นักเรียน
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับเลือกให้เป็นโรงเรียนนำร่องและได้รับงบประมาณเพิ่มนอกเหนือจาก
เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน
ก็น่าจะทำให้การขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครองหมดไปได้

ขณะที่ น.ส.อัญชลี ประกายเกียรติ ผอ.ร.ร.สวนอนันต์
ให้ความเห็นว่าถึงแม้สพฐ.เลือกสวนอนันต์นำร่องโครงการเรียนฟรีและให้งบ
ประมาณ 2 ล้านบาทเพื่อมาใช้จ่าย
ซึ่งชดเชยจากที่โรงเรียนเคยเรียกเก็บจากนักเรียนเทอมละประมาณ 1,700 บาท
แต่ไม่รู้ว่าจะเพียงพอหรือไม่ เพราะโรงเรียนจ้างครูสาขาขาดแคลน
และครูต่างประเทศ มาสอนรวมกัน 11 คน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละกว่า 1
แสนบาท

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนต่างแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า
การที่รัฐเข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเป็นสิ่งที่ดี
แต่สิ่งที่ผู้ปกครอง พ่อแม่ อยากเห็นมากกว่า นั้นก็คือ
การที่นักเรียนมีคุณภาพและส่งให้ถึงฝั่ง ไม่ว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย
หรือไปเรียนสายอาชีพที่สนใจ

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000063195

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น