++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552

บีโอไอ:ทำไมสิงคโปร์แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเป็นผลสำเร็จ?

บีโอไอ:ทำไมสิงคโปร์แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเป็นผลสำเร็จ?
โดย ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์


ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าในบรรดาประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออก
เฉียงใต้นั้น ในส่วนดัชนีคอร์รัปชันแล้ว
สิงคโปร์อยู่ในอันดับบ๊วยมาโดยตลอด
ตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่มักอยู่ในอันดับต้นๆ หากไม่เร่งแก้ไขแล้ว
อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจจะครองแชมป์ก็เป็นไปได้ ดังนั้น
ประเด็นสำคัญ คือ
สิงคโปร์มีเคล็ดลับอย่างไรที่สามารถรักษาอันดับบ๊วยในด้านนี้มาโดยตลอด

จากรายงานการศึกษาล่าสุดของสถาบัน Political and Economic Risk
Consultancy (PERC) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฮ่องกง
ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อต้นเดือนเมษายน 2552
โดยสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจระดับผู้บริหารทั้งของบริษัทในท้องถิ่นและ
บริษัทต่างชาติประมาณ 1,750 คน โดยจัดอันดับคอร์รัปชัน 16 ประเทศ
จำแนกเป็น 14 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศภายนอกภูมิภาคอีก 2
ประเทศ คือ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา

ผลการสำรวจพบว่าอินโดนีเซียครองแชมป์อันดับ 1 โดยได้รับคะแนน 8.32
ส่วนประเทศ
ไทยได้รับตำแหน่งรองแชมป์ คือ 7.63 คะแนน ส่วนกัมพูชาอันดับ 3
ได้รับ 7.25 คะแนน อินเดียอันดับ 4 ได้รับ 7.21 คะแนน และเวียดนามอันดับ
5 ได้รับ 7.11 คะแนน

สำหรับอันดับ 6 ถึงอันดับที่ 12 เรียงตามลำดับ คือ ฟิลิปปินส์ 7.0
คะแนน มาเลเซีย 6.70 คะแนน ไต้หวัน 6.47 คะแนน จีน 6.16 คะแนน มาเก๊า
5.84 คะแนน เกาหลีใต้ 4.64 คะแนน และญี่ปุ่น 3.99 คะแนน

ส่วนประเทศที่ครองอันดับบ๊วย ซึ่งแสดงว่ามีความใสสะอาดระดับสูงสุด
คือ สิงคโปร์ 1.01 คะแนน สำหรับรองบ๊วยอันดับ 2 - 4 คือ ฮ่องกง 1.89
คะแนน ออสเตรเลีย 2.40 คะแนน และสหรัฐฯ 2.89 คะแนน

จากระบบราชการที่มีประสิทธิภาพและใสสะอาด
ทำให้กลายเป็นจุดขายสำคัญของสิงคโปร์
ส่งผลให้พัฒนาตนเองอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย
ตะวันออกเฉียงใต้ นายลีเซียนหลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์
ได้เคยกล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2547
ภายหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า "In a region where corruption is
everywhere, we have a clean and meritocratic system." หรือ
"ในภูมิภาค(เอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
ซึ่งปัญหาคอร์รัปชันแพร่ระบาดอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง แต่เรา (สิงคโปร์)
กลับมีระบบ (ราชการ) ที่ใสสะอาดและมีคุณธรรม"

จากความใสสะอาดระบบราชการของสิงคโปร์
ทำให้ได้รับการยกย่องไปทั่วโลก เป็นต้นว่า หนังสือพิมพ์ Jakarta Post
ของอินโดนีเซีย ได้ตีพิมพ์บทความในหัวข้อข่าว "Singapore Courts Win
Trust, Jakarta Courts Win Bribes" หรือ "ศาลสิงคโปร์ชนะความเชื่อถือ
ขณะที่ศาลกรุงจาการ์ต้าชนะสินบน"
โดยกล่าวถึงการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของบริษัทอินโดนีเซียซึ่งแพ้คดีความใน
สิงคโปร์และอินโดนีเซีย โดยกรณีแพ้คดีแพ่งในสิงคโปร์แล้ว
จะมีทัศนะว่าผู้พิพากษาสิงคโปร์นั้นเป็นคนโง่
แต่เมื่อแพ้คดีในอินโดนีเซียแล้ว กลับมีทัศนะในทางตรงกันข้าม
จะมีความคิดเห็นว่าฝ่ายตรงข้ามน่าจะมีการติดสินบนผู้พิพากษาอย่างแน่นอน

อีกตัวอย่างหนึ่งที่หยิบยกขึ้น คือ
การซื้อเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศสิงคโปร์
ซึ่งมีการแข่งขันระหว่างบริษัทจำหน่ายเครื่องบินซึ่งเป็นไปอย่างเข้มข้นมาก
ทั้งๆ ที่สิงคโปร์ซื้อเครื่องบินเพียงแค่ไม่กี่ลำ
สร้างความแปลกใจให้แก่คนทั่วไปเป็นอย่างมาก

เหตุผลสำคัญที่บริษัทต่างๆ
ให้ความสนใจขายเครื่องบินแก่สิงคโปร์เป็นอย่างมาก
เนื่องจากกองทัพอากาศแห่งนี้ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติว่า
ฝ่ายจัดซื้อมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คอร์รัปชัน
และปฏิบัติงานศึกษาเกี่ยวกับสมรรถนะของเครื่องบินแบบมืออาชีพ

ผู้ขายเครื่องบินของบริษัทฝรั่งเศสได้เคยกล่าวว่าสิงคโปร์นับเป็น
ลูกค้าอ้างอิงคนสำคัญ เปรียบเสมือนกับเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ
แสดงว่าเครื่องบินแบบนั้นๆ ยอดเยี่ยมอย่างแน่นอน
ไม่ใช่เป็นเครื่องบินมีสมรรถนะไม่ได้เรื่อง
แต่ตัดสินใจซื้อเพราะหวังอามิสสินจ้าง ดังนั้น
หากสามารถจำหน่ายเครื่องบินแก่กองทัพอากาศสิงคโปร์ได้แล้ว
จะทำให้กองทัพอากาศของประเทศอื่นๆ
ให้ความสนใจที่จะซื้อเครื่องบินแบบนั้นๆ ตามไปด้วย

ความจริงแล้ว เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว
สิงคโปร์มีคอร์รัปชันจำนวนมากพอๆ กับประเทศไทย หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ
เนื่องจากภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสิ้นสุดเมื่อปี 2488
อัตราเงินเฟ้อในสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นมาก
ขณะที่เงินเดือนข้าราชการไม่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น
ในช่วงนั้นแม้แต่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลซึ่งต้องการเพียงแค่ดื่มน้ำร้อน
ก็จำเป็นต้องติดสินบน ในรูปแบบที่สิงคโปร์เรียกในคำพูดว่า "เงินกาแฟ"
(Coffee Money) แก่บรรดาบุคลากรของโรงพยาบาล มิฉะนั้น
จะไม่บริการน้ำร้อนมาให้ดื่ม

เมื่อนายลีกวนยูเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์
ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะปราบปรามคอร์รัปชันอย่างจริงจัง
โดยได้ดำเนินการในรูปแบบต่างๆ อย่างเข้มงวด
ทำให้สถานการณ์ปรับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ประการแรก ผู้นำประเทศ รวมถึงคณะรัฐมนตรี
ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่คอร์รัปชันเสียเอง มิฉะนั้น
ข้าราชการและประชาชนทั่วไปจะหัวเราะเยาะและไม่เชื่อถือกับมาตรการปราบปราม
คอร์รัปชัน โดยเขาเคยกล่าวปราศรัยเมื่อปี 2522
ว่าประเทศสิงคโปร์จะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อบรรดารัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูง
ต้องไม่คอร์รัปชัน ทั้งนี้ จากรัฐบาลที่ดำเนินการอย่างจริงจัง
ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือ
และกระตือรือร้นในการส่งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายคอร์รัปชันให้แก่
รัฐบาล

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี
ก็ได้เคยกล่าวให้ทัศนะเปรียบเทียบกับไทยและสิงคโปร์ในประเด็นนี้เมื่อเดือน
ธันวาคม 2544 ว่ากรณีของประเทศไทย
"ผมแปลกใจที่ไม่มีการตรวจสอบบ้านของคนใหญ่คนโตที่หรูหรา มีที่หลายสิบไร่
มีที่จอดรถได้ 18 - 20 คัน ซึ่งมองไม่ออกเลยว่ามีมาได้อย่างไร
ไปได้เงินทองมากมายมาจากไหน ...
สังคมของสิงคโปร์ที่พ้นภาวะคอรัปชั่นได้เพราะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคน
ไม่กิน รวมถึงข้าราชการด้วย เขาใช้วิธีกำจัดออกไป"

ประการที่สอง มอบอำนาจอย่างเต็มที่ให้แก่หน่วยงาน Corrupt
Practices Investigation Bureau (CPIB) ซึ่งขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี
มีอำนาจที่จะสอบสวนการกระทำผิดอย่างจริงจัง
สามารถเรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ปากคำ ไม่ว่าบุคคลนั้นๆ
จะมีตำแหน่งใหญ่โตเพียงใดก็ตาม และดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็ว
ไม่ดำเนินการสอบสวนแบบชักช้า หรือแบบลูบหน้าปะจมูกเป็นมวยล้มต้มคนดู

อนึ่ง นอกจากดำเนินคดีภายหลังคอร์รัปชันเกิดขึ้นแล้ว
หน่วยงานแห่งนี้ยังมีอำนาจในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาคอร์รัปชันที่ต้นเหตุ
ตามกฎหมายป้องกันคอร์รัปชัน Prevention of Corruption Act (POCA)
กล่าวคือ หน่วยราชการบางแห่ง เช่น หน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง
หน่วยงานศุลกากร กรมสรรพากร หน่วยงานตำรวจจราจร ฯลฯ
เดิมมีปัญหาคอร์รัปชันเป็นอย่างมาก
และสาเหตุของปัญหาอยู่ที่ขั้นตอนและระบบการทำงาน

ดังนั้น หน่วยงาน CPIB ได้เข้าไปตรวจสอบกระบวนการทำงาน
รวมถึงตรวจสอบระยะเวลาการอนุมัติอนุญาตต่างๆ
เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานเสียใหม่ให้มีโอกาสเกิดคอร์รัปชันลดลง
นับว่าเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้ปัญหาคอร์รัปชันเกิดขึ้นที่ต้นเหตุอย่างได้
ผล

ประการที่สาม ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย
โดยกำหนดว่าการที่ข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ หรือมิฉะนั้น
ก็มีวิถีชีวิตใช้จ่ายเงินจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่ได้รับแล้ว
เป็นต้นว่า มีเงินเดือนเพียงแค่นิดเดียว ไม่ได้เกิดมาร่ำรวย
แต่กลับขับรถยนต์หรูหราราคาแพงมาทำงาน อาศัยอยู่ในบ้านราคาหลายสิบล้านบาท
ถือว่าเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นๆ
ประพฤติมิชอบในการปฏิบัติราชการ
พนักงานสอบสวนไม่ต้องไปหาหลักฐานใบเสร็จให้เหนื่อยยาก ดังนั้น
เว้นแต่ข้าราชการคนนั้นๆ สามารถอธิบายถึงแหล่งที่มาของเงินดังกล่าวแล้ว
จะถูกดำเนินคดี ส่วนบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวจะถูกริบเป็นของทางราชการด้วย

ประการที่สี่ กำหนดโทษระดับสูง โดยกฎหมายกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 5
ปี ปรับไม่เกิน 100,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 2.5 ล้านบาท
รวมถึงต้องจ่ายค่าปรับเท่ากับเงินสินบนที่ได้รับ ยิ่งไปกว่านั้น
หากคอร์รัปชันเกี่ยวข้องกับสัญญาของรัฐบาลหรือเป็นสมาชิกรัฐสภาแล้ว
โทษจำคุกเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 7 ปี

ประการที่ห้า
ขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการให้พอเพียงต่อการดำรงชีพและอยู่ระดับใกล้เคียง
กับเงินเดือนในภาคเอกชน เนื่องจากข้าราชการบางคนนั้น
แม้จะมีทัศนคติที่ดีไม่ต้องการคอร์รัปชัน แต่อาจจะถูกสถานการณ์บีบบังคับ

ประการที่หก
รณรงค์ประชาชนให้ตระหนักว่าคอร์รัปชันเป็นเชื้อโรคร้ายที่บั่นทอนการพัฒนาประเทศผ่านสื่อต่างๆ

อย่างไรก็ตาม
เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในอดีตว่ากระทบต่อ
ประเทศสิงคโปร์มากน้อยเพียงใด หน่วยงาน CPIB
ได้เปิดพิพิธภัณฑ์คอร์รัปชันขึ้นที่สำนักงานใหญ่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้
เยี่ยมชม โดยกำหนดลูกค้าเป้าหมายเป็นเด็กนักเรียนสิงคโปร์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ของประเทศ
ที่เกิดภายหลังรัฐบาลปราบปรามคอร์รัปชันแล้ว
ส่วนใหญ่จึงไม่เคยมีประสบการณ์ในด้านคอร์รัปชันมาก่อน
ต้องมาทัศนศึกษาที่พิพิธภัณฑ์ว่าในอดีตคอร์รัปชันเป็นไปอย่างไร
รวมถึงลูกค้าเป้าหมายเป็นบรรดาข้าราชการต่างประเทศที่เดินทางมาดูงานเพื่อ
ต้องการเรียนรู้ถึงเคล็ดลับความสำเร็จในการปราบปรามคอร์รัปชันของสิงคโปร์
ด้วย

พิพิธภัณฑ์ ได้แสดงคดีดังคดีเด่นให้ประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะ
"เกียรติประวัติ" บุคคลสำคัญหลายคน เป็นต้นว่า คดีที่นาย Teh Cheang Wan
ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาประเทศ ซึ่งได้ฆ่าตัวตายเมื่อปี
2529 ขณะอยู่ระหว่างถูกสอบสวนคดีคอร์รัปชันโดยหน่วยงาน CPIB
รวมถึงนิทรรศการเกี่ยวกับคดีของนาย Wee Toon Boon
อดีตรัฐมนตรีของสิงคโปร์
ที่ถูกพิพากษาว่ากระทำผิดในด้านคอร์รัปชันเมื่อปี 2518
ซึ่งถูกพิพากษาให้จำคุก 4 ปี 6 เดือน ซึ่งต่อมาเขาอุทธรณ์
จึงได้ลดโทษจำคุกลงเหลือ 3 ปี

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000073000

อ่านแล้วคันมากเลยครับ สำหรับประเทศนี้
มันเป็นประเทศที่ว่าตัวผู้นำที่โกงทั้งหลายจะหา Safe Haven ที่ไหนไม่ได้
ก็มาใช้ที่นี่สิ ซิงกาโปโตก นี่แหละ สวรรค์ของพวกเอ็ง
ผม บอกได้ว่าผู้นำอาเซียน ทุกประเทศครับ เอาเงินไปฝากไว้ที่นี่แหละ
ลองดูอดีตผู้นำเอ็มแห่งประเทศข้างใต้เรานี่แหละ
ด่าประเทศเพื่อนบ้านมันอย่างสาดเสียเทเสีย จะปิดประเทศบ้าง
จะบล็อคการส่งน้ำเข้าประเทศนี้บ้าง สุดท้ายแล้ว ทำอะไรได้บ้างครับ ไม่ได้
ก็เพราะตัวเองเอาเงินไปไว้ในนั้นเพียบ (เพื่อลูกหลาน)
ประเทศออ ที่เป็นเกาะก็พอกัน อดีตผู้นำที่ครองตำแหน่งยาวนาน ก่อนตาย
เรียกให้ ลีผู้พ่อไปนั่งเฝ้าศพ เพื่อจัดสรรมรดกให้บรรดาลูกๆหลานๆของตัว
ทำไมนายอดีตผู้นำลีถึงต้องไปเฝ้าเล่า
ก็เพราะเงินทั้งหลายอยู่ในประเทศมันนี่แหละ
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่คุณทอ ถึงต้องขายหุ้นให้ประเทศนี้
เพราะมันเป็นอุโมงค์ส่งเงินให้ตัวเองไปทำอะไรได้ตั้งเยอะในหลากหลายประเทศ
ก็คือเตรียมการไว้ก่อนตั้งนานแล้ว ตามหลักเก็บไข่ไว้ในตะกร้าหลายๆใบ
ดังนั้น หากยึดเงินในเมืองไทยหมด ก็ไม่กระเทือนหรอกครับเพราะ Safe Haven
มันอยู่ที่นั่นแหละ ยังมีอีกเยอะ
สรุป ก็คือตอนนี้ประเทศนี้ แ--งเป็นสวรรค์ที่ฟอกเงินครับ
ไม่ต้องไปไกลถึงสวิสแล้ว ดังนั้นการที่มันบอกว่าไม่คอรรับชั่น
ก็สำหรับข้าราชการระดับเล็กๆเท่านั้นแหละ ตัวใหญ่ๆ
อย่างน้อยก็คือรู้เห็นเป็นใจกับบรรดาผู้นำประเทศทั้งหลายที่จะมาเก็บเงินไว้
ในประเทศนี้ ผมถือว่าเป็นผู้สมคบคิดการคอรับชั่นระดับโลกเลยครับ
พ่อของลูกสองคน

--
แน่ใจหรือ ? ว่าสำเร็จเกินกว่าร้อยละ 90 ฟันธง ! ไม่จริง มั้ง !
ทุกวันนี้ คอรัปชั่นในทุกมุมของโลก ก็ยังคงอยู่ มากบ้างน้อยบ้าง
เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว แต่ที่แน่ๆ นี่ไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง แต่
มนุษย์เองต่างหาก ที่เป็นต้นตอของปัญหา ในบางประเทศ นั้น
มีมุมมองในการจ่ายหรือรับผลตอบแทน ต่างกัน ! นี่ต่างหากที่เป็นตัววัดว่า
ที่ใหน คอรัปชั่นเบ่งบาน หรือ ไม่อย่างไร ?
คำถามที่อยากจะถามนักว่าขอบเขตของคำจำกัดความ คอรัปชั่น ในประเทศไทย นั้น
แตกต่างกว้างขวางคลอบคลุมมากน้อยเพียงใด ? เมื่อเทียบกับ สิงคโปร์ หรือ
ประเทศ อื่นๆ แต่ที่แน่ๆ นั้น สิงคโปร์ เองนั้น ใช่แน่นอน เขาสามารถ
จำกัดวงของการ เรียกรับ หรือ จ่าย ผลตอบแทน ผลประโยชน์
ได้อมากและสามารถควบคุมได้ ในระดับหนึ่ง ! ทั้งด้วยมาตรการ จูงใจ และ
กฏหมายที่คลอบคลุม ชัดเจน รวมไปถึง การบังคับใช้กฏหมายที่ ทรงประสิทธิภาพ
! เมื่อเปรียบเทียบกับ ประเทศไทย ! ดังนั้น
ควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการวิเคราะห์เปรียบเทียบกัน
ทั้งในเชิงปริมาณและ คุณภาพ ! ด้วย ความแตกต่าง กันอย่างสิ้นเชิง ทั้ง
ในเชิงกายภาพ อาทิ อาณาเขตแดน จำนวนประชากร
มาตรฐานและระดับการศึกษาของประชากร ฯลฯ และนี่ยังไม่รวมถึงเชิงระบบและ
วัฒธรรมจารีตประเพณี ยิ่งห่างไกลและแตกต่างกันอย่างยิ่ง !
เห็นด้วยไม่เห็นต่างหรอกจากสิ่งที่ผู้เขียนนั้นอ้างถึงและชี้ประเด็นมา
แต่ทว่าเพื่อความเป็นธรรมในระบบและในสังคมไทยนั้น มุมมองและข้อจำกัดต่างๆ
ที่ผู้เขียน ผู้วิจารณ์ นั้น มิได้นำมาเปรียบเทียบ เชิงวิเคราะห์
แต่อย่างใด ! หาก จะเอากันแค่ อ่านกันเพลินๆ ให้เห็นภาพ ลางๆ
ล่ะก็ได้แน่นอน แต่เกรงว่า ภาพที่เกิดกับผู้อ่านนั้น จะผิดเพี้ยน
หลุดโลกไปไกลเกินจริง และเกิดเป็น มโนภาพ สมมุติ
ตามจินตนาการของผู้วิจารณ์ และห่างไกลจากสภาพที่แท้จริง
ในระบบของสังคมไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน !
Ho@yahoo.com

-- ผมว่าบทความนี้มันไม่เห็นจะผิดเพี้ยนตรงไหนกับสภาพความเป็นจริง
ปัญหาคอรับชันนั้นเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงนักสำหรับประเทศไทย
กับอัตราค่าใช้จ่ายคอรัปชันให้นักการเมืองในโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้ง
ระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์ ระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ
ที่พวกผู้รับเหมาผู้ประมูลที่ต้องจ่ายกันอยู่ที่ 15%-25%
จากงบการลงทุนต่อปีเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน
เงินที่สูญเสียไปกับค่าคอรับชันต่อปี (หลายพันหลายหมื่นล้าน)
ไปอยู่ที่นักการเมืองบางพวกที่เจียดเงินจำนวนน้อยของเงินคอรับชันที่ได้มา
ไปซื้อเสียงในช่วงการเลือกตั้งเพื่อที่จะได้ถูกเลือกกลับเข้ามาใหม่
เงินคอรัปชันเหล่านี้ถ้าถูกนำมาใช้ในระบบเศรษฐกิจคงสามารถสร้างมูลค่าเพ่ิม
ในระบบเศรษฐกิจประเทศไทยได้มากทีเดียว
น่า เสียดายที่มีคนบางพวกที่ได้ประโยชน์ตรงนี้
และน่าเสียใจยิ่งกว่าที่คนไทยหลายคนคิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่
หรือว่าเรื่องแบบนี้เกิดกับทุกที่ทั่วโลก
อยากให้คนเหล่านั้นได้มีโอกาสเปิดโลกไปสัมผัสกับประเทศหลายๆประเทศที่เค้า
จัดการกับปัญหาคอรับชันได้ดี จะได้ออกมาจากกะลาใบเล็กบ้าง
ผู้รับเหมา NC
--
ขอตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งนะครับ
ผมรู้สึกว่า ในสิงคโปร์
ทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายทุนของเขา เป็นพวกเดียวกันหมด
ประเทศเขาเล็ก คนก็น้อย
ผู้ทรงอำนาจ และทรงอิทธิพล จึงมีน้อย และเป็นพวกเดียวกันหมด
เลยไม่รู้จะโกงกันไปทำไม ก็พวกเดียวกันทั้งนั้นนี่

ผิดกับพี่ไทย
พวกข้าราชการก็กลุ่มหนึ่ง
พวกนักธุรกิจก็กลุ่มหนึ่ง
พวกนักการเมืองก็กลุ่มหนึ่ง
พวกนักวิชาการก็กลุ่มหนึ่ง
พวกแรงงานก็กลุ่มหนึ่ง
พวกNGOก็กลุ่มหนึ่ง
พวกทหารก็กลุ่มหนึ่ง
ฯลฯ
อนึ่ง เนื่องจากทรัพยากร (ทุน อำนาจ) มีจำกัด
ปุถุชนผู้มีกิเลสจึงแก่งแย่งกัน
hofds
--
ต้องแก้ที่กระบวนการยุติธรรมจึงจะตรงประเด็น
เพิ่มโทษสถานหนัก รวดเร็วในการตัดสินคดี
บางเรื่องคดีเกิดขึ้น 6-7 ปี ชั้นต้นเพิ่งตัดสินคดี
คนลืมหมดแล้ว..เลยไม่สำนึกเป็นบทเรียน
กว่าอุทธรณ์...ฎีกา...มันยักย้ายถ่ายเทเงินทอง ทรัพย์สินให้ลูกหลาน
และคนใกล้ชิดหมดแล้ว...ไม่เหลือให้ยึดคืน
คนเลยไม่กลัวการทำผิด
................
ฉะนั้นการตัดสินคดีทุจริต
ต้องรวดเร็ว..ทันที...มีประสิทธิภาพ
ปปช.ของเรา...อืดยิ่งกว่าเรือเกลือ
ต้องผ่าตัดกระบวนการดำเนินคดีทุจริต
ให้รวดเร็ว..เห็นผลทันที...โทษหนัก
อย่าให้เรื่องจางหายไปจากความจำ
จึงจะมีผลในทางจิตวิทยา...เกิดสำนึก...
กลัวการทำชั่ว...ติดคุกทันที
...............................
การพิจารณาคดีทุจริตที่ล่าช้า
คือความล้มเหลวในการปราบคนโกง

ไม่มีใครที่ไม่กลัวติดคุก
คนไทยรักชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น