++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

คันธสาระ จากพระสูตร ท่านเว่ยหลาง

คันธสาระ ข้อต้นนั้นคือ ศีล ซึ่งหมายถึงการที่จิตของเรา
ปราศจากรอยด่างของทุจริต, ความชั่ว ความริษยา ความตระหนี่
ความโกรธ การใช้กำลังข่มขู่ และการผูกเวร

คันธสาระข้อที่สองนั้นคือ สมาธิ ซึ่งหมายถึงการที่จิตของเรา
ไม่มีอาการหวั่นไหวในทุกเหตุการณ์ที่เข้ามาแวดล้อมเรา
ไม่ว่ามาดีหรือมาร้าย

คันธสาระข้อที่สามนั้นคือ ปัญญา ซึ่งหมายถึงการที่จิตของเรา
เป็นอิสระจากเครี่องห่อหุ้มรึงรัด, หมายถึง การที่เราส่องปัญญา
ของเราอยู่เนืองนิจ ลงที่จิตเดิมแท้ของเรา. หมายถึงความที่เรา
เป็นผู้พ้นเด็ดขาดจากการที่จะทำความชั่วทุกประเภท,
หมายถึงความที่เราจะทำความดีทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงกระนั้นเราก็
ไม่ปล่อยให้ใจของเราที่เกี่ยวเกาะอยู่ที่ผลของความดีนั้นๆ,
และหมายถึงว่าเรายอมเคารพนับถือผู้อื่นที่อยู่สูงกว่าเรา
อ่อนน้อมต่อผู้ที่ต่ำต้อยกว่าเรา เห็นอกเห็นใจคนที่หมดวาสนา
และคนยากจน.

คันธสาระข้อที่สี่นั้นคือ ความหลุดพ้น (วิมุติ) ซึ่งงหมายถึงความ
ที่ใจของเราขึ้นถึงขั้นอิสระเด็ดขาดไม่เกี่ยวเกาะอยู่กับสิ่งใด
ไม่ผุกพันตัวเองอยู่กับความดีความชั่ว.

คันธสาระข้อที่ห้านั้นคือ ความรู้ อันเราได้รับในขณะที่ลุถึง
ความหลุดพ้น. เมื่อจิตของเราไม่เกี่ยวเกาะกับความดีและ
ความชั่วแล้ว เรายังจะต้องระวังไม่ปล่อยให้จิตนั้นอิงอยู่กับความ
ว่างเปล่า หรือตกลงไปสู่ความเฉื่อย. ยิ่งกว่านั้นเรายังจะต้อง
เพิ่มพูนการศึกษา และขยายความรู้ของเราให้กว้างออกไปจนกระทั่ง
สามารถรู้จักจิตของเราเอง, สามารถเข้าใจโดยทั่วถึงในหลักพุทธรรม,
ทำตนเป็นฉันท์ญาติมิตรกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เราเกี่ยวข้องด้วย,
บำบัดความรู้สึกว่า "ตัวตน" และความรู้สึกว่ามีว่าเป็นเสียให้หมดสิ้น,
และเห็ฯแจ้งชัดว่า จำเดิมแต่ต้นมาจนกระทั่งถึงเวลา ที่เราได้บรรลุ
โพธินั้น "ธรรมชาติที่แท้จริง" (หรือจิตเดิมแท้) ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เคย
เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา. ดั่งนี้ชื่อว่า คันธสาระแห่ง "ความรู้อันเรา
ได้รับในขณะที่ลุถึงความหลุดพ้น"

คันธสาระอันประกอบไปด้วยองค์ห้าประการนี้ ย่อมอบกลิ่นออกมาจาก
ภายใน และเราไม่ควรแสวงหามันจากภายนอก.

คันธสาระ ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่มีกลิ่นหอมทั่วๆไป ใช้จุดเพื่อให้อากาศ
หอม ผู้อ่านที่สังเกตุจะเห็นได้ว่า คันธสาระห้าอย่างนี้โดยชื่อ ก็คือที่
เรียกกันในฝ่ายเถรวาทว่า ธรรมสาระห้านั่นเอง ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
วิมุติ และวิมุติญาณทัศนะ แต่คำอธิบายเดินคนละชั้นคนละแนว


จาก จากพระสูตรของ ท่านเว่ยหลาง หน้าที่ ๘๘-๘๙
แปลโดย ท่านพุทธทาสภิกขุ
สำนักพิมพ์เครือเถา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น