++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เวทีนโยบาย:เจตนารมณ์ พ.ร.บ.จัดทำหนังสือสัญญา

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ


คอร์รัปชันเชิงนโยบายที่มุ่งแสวงประโยชน์ส่วนตัวกว่าสาธารณะโดยอาศัยอำนาจ
นักการเมืองหรือตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมาเป็นเครื่องมือดำเนินโครงการหรือ
นโยบายนั้นอันตรายใหญ่หลวงนัก รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
จึงไม่เพียงกำหนดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้อย่างเข้มข้นเพื่อป้องปรามการ
ขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of interest) ในมาตรา 265-269
โดยตรงเท่านั้น ทว่ายังกำหนดหลักเกณฑ์การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศไว้ในมาตรา
190 ด้วย เพื่อควบคุมคณะรัฐมนตรีที่มักลงนามตามแรงปรารถนาส่วนตัวบวกการล็อบบี้ของ
บรรษัทยักษ์ใหญ่จนประเทศชาติเสียหายมหาศาล

ด้วยผ่านมาหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือ
สังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน
หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
หรือต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญานั้นขาดความโปร่งใส
ไม่เว้นแม้แต่หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตยของรัฐ
หรือมีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมี
เขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ก็ยังขาดขาดธรรมาภิบาล (Good governance)
ทั้งที่ควรจัดทำรอบคอบรัดกุมยิ่งยวด

ดังปรากฏการณ์ปราสาทพระวิหารที่สร้างบรรยากาศคลุมเครือ
ก่อนจะกระจ่างแจ้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าคำแถลงการณ์ร่วมไทย
-กัมพูชา (Joint Communiqué) ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551
เป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ
ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางจากการแตกแยก
ทางความคิดเห็นของคนทั้งสองชาติจนอาจลุกลามร้าวลึกเป็นวิกฤตระหว่างประเทศ
อีกด้วย จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

นอกเหนือตรวจสอบถ่วงดุล (Check & balance)
ฝ่ายบริหารไม่ให้ลุอำนาจผลักดันนโยบายที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยฝั่ง
ตุลาการแล้ว การเพิ่มอำนาจนิติบัญญัติและประชาชนเข้ามาในมาตรา 190
โดยกำหนดให้ก่อนทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
คณะรัฐมนตรีต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน
และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น
โดยให้คณะรัฐมนตรีต้องเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาทั้งก่อนและหลังการเจรจา
เพื่อขอความเห็นชอบ ตลอดจนเมื่อลงนาม
ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงรายละเอียดหนังสือสัญญา
และได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม
กรณีที่ได้รับผลกระทบ จึงถือว่าก้าวหน้ายิ่ง

ใต้แรงลมโลกาภิวัตน์
ผลกระทบจากการเจรจาค้าความนั้นสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนปมยิ่งนัก
ด้วยไม่ได้จำกัดอยู่แค่เศรษฐกิจ หากแต่รัดร้อยกับสังคม วัฒนธรรม
มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน จนถึงสิ่งแวดล้อม
ดังประจักษ์ผ่านวิวาทะระหว่างชีวิตผู้คนกับมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิ
บัตรยา (Compulsory license: CL) และการพัฒนาพันธุกรรมกับโจรสลัดชีวภาพ

ทว่า ที่แล้วมาการลงนามหนังสือสัญญาของประเทศไทยไม่ได้คำนึงถึงมิติอื่นใดเลยนอก
จากเศรษฐกิจ ซ้ำร้ายยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มก้อนธุรกิจที่ครอบครัวพวกพ้องนักการเมืองมี
บริษัทหรือได้รับสัมปทานอยู่เสียเป็นส่วนใหญ่
ในขณะเดียวกันก็ขาดธรรมาภิบาล โดยเฉพาะความโปร่งใส (Transparency)
และกระบวนการมีส่วนร่วม (Participatory) ของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย

สุดท้ายข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA)
กับนานาประเทศ ทั้งอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย
จึงท่วมท้นข้อเสียเปรียบ ข้อสงสัย และข้อขัดแย้ง
เนื่องจากขณะรัฐขาดข้อมูลรอบด้านเพราะไม่มีการศึกษาวิจัยเพียงพอ
ภาคประชาชนก็เข้าไม่ถึงข้อมูลแม้นส่วนเสี้ยว

เจตนารมณ์มาตรา 190
ที่มุ่งสร้างหลักเกณฑ์การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศเพื่อ
ลดทอนความเสียเปรียบและโอกาสคอร์รัปชันเช่นนี้นับว่า 'ก้าวหน้า'
มากจากมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีช่องโหว่ภาคปฏิบัติมากมาย
ไม่ว่าจะการตีความ การหลีกเลี่ยง
หรือตัวบทบัญญัติเองที่ไม่มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลโดยนิติบัญญัติและประชา
สังคม

ฉะนั้นการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอ
ผนวกความปรารถนารุ่มร้อนทางการเมืองที่จะล้มมาตรา 237
ที่กำหนดการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค
รวมทั้งการยุบพรรคเพราะกระทำหรือสนับสนุนการทุจริตเพื่อปลดพันธนาการตนเอง
และพรรคพวกเหนืออื่นใดด้วยแล้ว การพ่วงมาตรา 190
เข้ามาในเกมการเมืองจึงขาดความชอบธรรมสูงยิ่ง
เพราะเข้าทำนองกล่าวโทษวิเคราะห์วิจารณ์ผู้อื่นสิ่งอื่นเพื่อกลบเกลื่อนความ
ผิดตนเอง

เพียงข้ออ้างว่าการกำหนดกรอบเจรจานำความยุ่งยากมาสู่ฝ่ายบริหารเพราะ
ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาทั้งก่อนและหลังการเจรจา
หรือก่อนลงนามในหนังสือสัญญา
และการเปิดเผยกรอบการเจรจายังทำให้เสียท่าทีการเจรจาเพราะคู่เจรจารู้สิ่ง
ที่ไทยต้องการนั้น
เอาเข้าจริงแล้วน้ำหนักก็น้อยกว่าผลประโยชน์มหาศาลที่ประเทศคู่เจรจายักษ์
ใหญ่มักเรียกร้องจากไทยโดยไม่แคร์ข้อโต้แย้ง

การจัดทำกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทยภายใต้การเจรจาอาเซียนกับ
สหภาพยุโรปของรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินการหารือกับภาคส่วนต่างๆ
ต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงกรอบการเจรจาให้สมบูรณ์มากสุด
ท้ายสุดจึงน่าจะตอบโจทย์ประเทศชาติได้เพราะเพิ่มอำนาจต่อรองคณะเจรจาไทยไม่
ให้เสียเปรียบ 'ตกเป็นเบี้ยล่าง'
ดังเดิมด้วยมีกรอบการเจรจากำหนดไว้ตามมาตรา 190
เหมือนอย่างอเมริกาและออสเตรเลียที่รัฐสภาจะกำหนดกรอบการเจรจาให้รัฐบาล
ปฏิบัติตาม

ใช่กลไกรับมือโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจจะมีแค่การกำหนดกรอบการเจรจาที่
ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาทั้งก่อนและหลังเจรจา
ทว่าการกำหนดให้ก่อนทำหนังสือสัญญานั้นคณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มี
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ตลอดจนมีการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญา
โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้รับประโยชน์กับผู้ได้รับผลกระทบ
และประชาชนทั่วไปไว้ในมาตรานี้ก็จะทำให้การเจรจาครบถ้วนทุกมิติมากขึ้น

ไม่เหมือนสมัยรัฐบาลไทยรักไทยก่อนบังคับใช้มาตรา 190
ที่กระบวนการเจรจาเร่งรีบ แค่ 2
ปีก็จัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยการจัดทำเขตการค้าเสรี 6 ประเทศ
โดยไม่มีข้อมูลผลกระทบระยะยาวที่มาจากการศึกษาอย่างเป็นระบบ
โดยเฉพาะทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม
เพราะเฉพาะข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์ก็ยังไม่ชัดเจนเลย
รวมทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมยังจำกัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจเอกชน

ไม่เท่านั้นยังผลักดันผู้ได้รับผลกระทบ
โดยเฉพาะเกษตรกรไปติดบ่วงร้อยของเกษตรพันธสัญญา (Contact farming)
หรือไม่ก็ต้องไปปลูกพืชอื่นแทน
เพราะสูญเสียทั้งวิถีชีวิตและอาชีพไปแล้วจากการลงนามหนังสือสัญญาของรัฐบาล
โดยขาดแผนการรองรับผลกระทบ (Adjustment program)
สำหรับประชาชนในทุกกลุ่มอาชีพที่รอบคอบรอบด้านและมีประสิทธิภาพเพียงพอ

มากกว่านั้นประเด็นปัญหาว่าจะนิยามถ้อยความ
'มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง'
และ 'มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน
หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ' อย่างไรก็สำคัญไม่ด้อยกว่ากัน
เพราะไม่เช่นนั้นจะคลุมเครือยิ่ง

การเริ่มต้นด้วยคำถามแสนง่ายแต่ตอบยากว่าจะให้วิถีชีวิตเกษตรกรราย
ย่อยที่ลมหายใจรวยรินเพราะพิษ FTA
นั้นกระทบต่อความมั่นของสังคมหรือไม่จึงน่าสนใจใคร่ครวญยิ่งนัก

การ แก้ไขมาตรา 190
จึงไม่คลี่คลายวิกฤตคลางแคลงขัดแย้งเท่ากับผลักดัน
พ.ร.บ.ขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่สอดรับกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
เพื่อลดปัญหาการตีความ และความเสียหายถูกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับ
หรือไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

การ ขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ.
.... โดยกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch Group)
จากการรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 คนเพื่อเข้ามาเป็น 1 ใน 3
ของกรรมาธิการตามมาตรา 163 รวมทั้งร่างฉบับอื่นๆ
ที่จะเข้ามาประกบกับร่างพ.ร.บ.หลักของรัฐบาลนั้นน่าจะรังสรรค์
พ.ร.บ.จัดทำหนังสือสัญญาที่มีเจตนารมณ์ก้าวหน้าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190
ได้ ด้วยอย่างน้อยที่สุดก็ได้นำวิถีชีวิตวิถีวัฒนธรรมเกษตรกรที่กำลังล่มสลาย
เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมการการทำหนังสือสัญญาที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล.

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000067398

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น