++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทำอย่างไรเมื่ออยากลาออกจากความเป็นแม่ / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน 6 พฤษภาคม 2552 12:52 น.
คุณเคยเกิดความรู้สึกอย่างนี้บ้างไหม ?

ดิฉันได้ไปจัดรายการทางสถานีวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว FM 105
ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ได้ไม่นาน โดยมีคอนเซ็ปต์คลื่นว่า
"คลื่นแห่งการเรียนรู้อย่างรื่นรมย์"

รายการที่ดิฉันจัดชื่อว่า "พ่อแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย"
ในวันแรกของการจัดรายการ
ดิฉันหยิบยกเอาเรื่องการเรียนรู้อย่างรื่นรมย์มาพูดคุย
พร้อมทั้งพูดคุยถึงเรื่องความตั้งใจของคนที่เป็นพ่อแม่
เมื่อถึงวันที่มีลูกยืนยันว่าหัวใจเกินร้อยทุกคน
พร้อมทั้งเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนที่เมื่อวันต้องเป็นแม่ จะมีความสุขขนาดไหน
แม้จะมีความเหนื่อยมากมาย แต่หัวใจก็เปี่ยมสุข และเมื่อหัวใจมีสุข
ก็ควรทำหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่ให้ดีที่สุด
โดยเฉพาะคนเป็นแม่ไม่สามารถลาออกจากความเป็นแม่ได้
และไม่สามารถเอาลูกกลับเข้าไปในท้องได้อีกด้วย

ระหว่างนั้นมีคุณแม่ท่านหนึ่งโทรศัพท์เข้ามาพูดคุย และบอกว่า
"อยากลาออกจากความเป็นแม่" พร้อมทั้งเล่าให้ฟังถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

เธอมีลูกสองคน ลูกสาวคนโต และลูกชายคนเล็ก
อยู่ในช่วงวัยประถมปลายและประถมต้น
เธอเล่าว่าลูกของเธอทะเลาะกันเป็นประจำ จนเธอรู้สึกเบื่อหน่าย
และไม่รู้จะทำอย่างไรดี เพราะบอกลูกแล้วลูกก็ไม่ฟัง เธอรู้สึกอายเพื่อนๆ
และหาทางออกไม่ได้ จนกลายเป็นที่มาของคำว่าอยากลาออกจากความเป็นแม่

เมื่อไล่เรียงคำถามไปเรื่อยๆ ก็พอจะเข้าใจได้ว่า
ด้วยความที่เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน
ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานหาเงินเพื่อดูแลครอบครัวด้วย
แล้วไหนจะต้องดูแลลูกสองคน ที่เธอบอกว่าเธอตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง
โดยไม่ต้องการให้ใครช่วย
เพราะเธอต้องการเลี้ยงดูด้วยตัวของเธอเองตลอดเวลา

แต่เมื่อถึงช่วงวัยหนึ่งเมื่อลูกกำลังจะเข้าสู่วัยก่อนวัยรุ่น
เป็นช่วงที่เขาเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง
เธอกลับเริ่มรู้สึกว่าลูกไม่เชื่อฟัง ลูกดื้อ
แม้เธอจะเฝ้าเพียรบอกอย่างไร ลูกก็ไม่ฟัง โดยเฉพาะเวลารับประทานอาหาร
ลูกคนโตมักจะหยิบอุปกรณ์การกินมาแหย่น้อง
และอุปกรณ์ก็กลายเป็นอาวุธในการเล่นกัน จนเธอรู้สึกอับอายผู้อื่น
ตรงกันข้ามกับลูกที่ส่งเสียงหัวเราะเพราะความสนุกสนานระหว่างพี่น้อง

บท สนทนาในวันนั้น
เธอรับปากว่าจะลองใช้วิธีพูดคุยกับลูกในช่วงเวลาปกติ ในช่วงเวลาสบายๆ
ของครอบครัว ในช่วงที่ลูกๆ ของเธอไม่ได้อยู่ในห้วงอารมณ์คึกคะนอง
และสอบถามด้วยน้ำเสียงปกติที่สุด
ถึงพฤติกรรมของพวกเขาที่ชอบเล่นบนโต๊ะอาหาร
พร้อมทั้งแสดงความห่วงใยว่าในขณะที่ลูกสนุกสนานแต่แม่เป็นห่วงเหลือเกิน
เพราะเกรงว่าอุปกรณ์การรับประทานอาหาร อาจกลายเป็นอาวุธที่ทำให้ลูกๆ
ได้รับบาดเจ็บก็ได้
ขณะเดียวกันก็สอดแทรกเรื่องมารยาทการรับประทานอาหารให้ลูกๆ ไปด้วย

เธอบอกว่าเธอยังไม่เคยใช้วิธีเหล่านี้ เธอจะลองดู

นหมายความว่า เรื่องราวในท่วงทำนองเดียวกัน
แต่วิธีการแสดงออกและท่าทีของพ่อแม่มีผลต่อผลลัพธ์และพฤติกรรมของลูกอย่างแน่นอน

ถ้าเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารเรื่องนี้เกิดขึ้นกับคุณแม่สองคน

คุณแม่คนแรกตอบสนองด้วยเสียงดุ บอกลูกว่าอย่าทำ
และต่อว่าในลักษณะเป็นนิสัยที่ไม่ดี ด้วยท่าทีที่กราดเกรี้ยว

ในขณะที่คุณแม่คนที่สอง บอกด้วยท่าทีห่วงใย เพราะเกรงว่าลูกๆ
จะได้รับบาดเจ็บ และชวนให้ลูกสนใจสิ่งอื่น
อาจจะชวนคุยเรื่องอื่นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

คุณคิดว่า...ลูกจะมีพฤติกรรมตอบสนองต่อคุณแม่ทั้งสองท่านนี้อย่างไร

ลูกของคุณแม่คนแรก อาจคิดว่า แม่ห้ามเล่นอีกแล้ว
แต่สิ่งที่เขาเล่นนั้นสนุกเหลือเกิน ดูสิ น้องหัวเราะ
ไม่เห็นจะไม่ดีตรงไหน เด็กอาจจะคิดว่าแม่ก็ห้ามหนูไปซะทุกเรื่อง
ก็เลยกลายเป็นเรื่องปกติ
ที่เขาหรือเธอตัวน้อยรู้สึกคุ้นชินกับคำพร่ำบ่นของคนเป็นแม่

แต่ถ้าลูกของคุณแม่คนที่สองได้เห็นถึงท่าทีของแม่ที่แสดงถึงความ
ห่วงใย หรืออาจจะยกตัวอย่างของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อพลาดพลั้ง
เขาหรือเธอตัวน้อยก็จะคิดตาม และเริ่มจินตนาการตามไปด้วย
ประกอบกับถ้าพ่อแม่ชวนลูกทำกิจกรรมอย่างอื่น เพื่อเบี่ยงเบน
เขาย่อมรู้สึกยินดีมิใช่หรือ

ความจริงเรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ เท่านั้น
แต่ก็มีพ่อแม่อีกจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน ที่อาจกำลังประสบปัญหานี้อยู่

ปัญหาอาจต่างกัน
...แต่ความรู้สึกที่บางครั้งอยากจะลาออกจากความเป็นแม่บ้าง
เคยเป็นไหมคะ...!!!

ตอนแรกที่เพื่อนคุณแม่ท่านนั้นบอกว่าอยากลาออกจากการเป็นแม่
ฟังดูผิวเผินอาจไม่มีอะไร เป็นการบ่นประสาคนเป็นแม่ ที่บางคราก็เหนื่อย
เพราะไหนจะเรื่องงาน เรื่องลูก เรื่องบ้าน เรื่องสามี เรื่องเงิน
สารพัดที่ต้องทำไปซะทุกอย่าง ก็อาจเกิดอาการท้อและเหนื่อย
และอาการนี้ก็พาลไปว่า ถ้าไม่มีลูก เราคงไม่เหนื่อยขนาดนี้

ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเกิดอารมณ์ประมาณนี้ได้ทั้งนั้น
แต่ถ้าคุณกำลังเกิดอาการประมาณนี้ เริ่มมีสัญญาณไม่ดีแล้วล่ะค่ะ

คุณต้องลอง "หยุด" และ "สำรวจ" ตัวเองบ้างซะแล้ว

ประการแรก คุณต้อง "หยุด" ความคิดนั้นเสียก่อน และจากนั้นค่อยๆ
ปลีกตัวเองออกมาจากภารกิจปกติ
หรือความรู้สึกที่ทำให้เกิดภาวะความเครียดในทันที
เพื่อทำให้ตัวเองผ่อนคลายให้ได้มากที่สุด

เป็นไปได้ค่ะ เพราะสังคมยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย
ความเร่งรีบ และความสุ่มเสี่ยงในพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ทำให้เรามีโอกาสเครียด
ได้ทุกเมื่อ นี่ไม่นับรวมกับบางคนที่ประสบภาวะปัญหาชีวิตคู่ที่ต้องยอมรับว่าหนักหนา
สาหัสกว่าคู่ชีวิตที่สมบูรณ์
เพราะเท่ากับคุณต้องแบกภาระความเครียดติดตัวเป็นพื้นฐาน
โอกาสที่จะเครียดก็มากกว่าปกติ

และเมื่อเกิดภาวะความเครียด
บางครั้งเมื่อเราควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้
โอกาสที่จะกระดอนมาลงที่ลูกก็มีเช่นกัน ฉะนั้น
ถ้าเกิดปัญหาเช่นนี้ต้องรีบ "หยุด" ความคิดก่อนที่จะเตลิดไปไกล

ประการต่อมา ต้องหาทางไปพักผ่อน
โดยอาจจะฝากลูกไว้กับญาติพี่น้องสัก 3-4 วัน เดินทางไปกับคู่ชีวิต
หรือจะไปกับเพื่อน ก็แล้วแต่บริบทของชีวิตของแต่ละคน
เพื่อไปชาร์ตแบตเตอรี่และผ่อนคลายจากชีวิตประจำวัน
แต่ก็นั่นแหละวิธีผ่อนคลายของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน
บางคนอาจจะไม่ชอบการเดินทาง แต่อาจจะมีวิถีอย่างอื่น ก็แล้วแต่สะดวก
เพียงแต่ให้ปลอดภาระปกติในชีวิตประจำวันสักช่วงหนึ่ง

การประคับประคองอารมณ์ของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของคนเป็นพ่อแม่
อย่าปล่อยให้อารมณ์หรือสภาวะรอบข้างมาเป็นตัวกำหนดอารมณ์ของเรา
และเราก็นำกลับมาบ้านโดยไม่รู้ตัว
และท้ายสุดลูกก็รับเอาอารมณ์เหล่านั้นไปด้วย

ประการสุดท้าย
ต้องเข้าใจและยอมรับว่าไม่มีวันที่เราจะลาออกจากการเป็นพ่อแม่ได้
แต่การที่จะพยายามหาจุดสมดุลของการเป็นพ่อแม่ที่ดี เป็นเรื่องจำเป็น

อย่าลืมว่าลูกก็ไม่สามารถลาออกจากการเป็นลูกได้เหมือนกัน
เขาเองก็รักพ่อแม่และปรารถนาอยากให้พ่อแม่รักและเข้าใจลูกเช่นกัน

ท้อได้ แต่ถอยไม่ได้ค่ะ


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000050617
--

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น