++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ตามไปดู "วัวนมพันธุ์ทนร้อน" ฝีมือ มข.

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

รายงานพิเศษ

เหตุจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ร้อนและแห้งแล้ง
ดังนั้น โคนมที่เลี้ยงในพื้นที่ดังกล่าว
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโคนมสายพันธุ์จากต่างประเทศ
จึงไม่คุ้นเคยกับสภาพภูมิอากาศของเมืองไทย
ส่งผลให้โคนมที่เลี้ยงในอีสานมีปริมาณน้ำนมน้อย

ดังนั้น รศ.ดร.วิโรจน์ ภัทรจินดา ภาควิชาสัตวศาสตร์
คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น
จึงได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์โคนมเพื่อให้เหมาะกับการเลี้ยงในพื้นที่ภาค
อีสาน โดยใช้ระยะเวลาในการพัฒนาสายพันธุ์กว่า 16 ปี
และประสบความสำเร็จในการพัฒนาโคนมสายพันธุ์ใหม่ ภายใต้ชื่อ
โคนมทนร้อนมหาวิทยาลัยขอนแก่น (KKU101)

ทั้งนี้ ลักษณะเด่นของโคนมพันธุ์นี้คือ
สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศร้อน-ชื้น และสภาพการเลี้ยงแบบไทยๆ
ที่มีคุณภาพอาหารค่อนข้างต่ำได้ นอกจากนี้ยังมีลักษณะให้ผลผลิตน้ำนมสูง
โดยให้น้ำนมเฉลี่ย 12 กก./วัน หรือ 4,400 กิโลกรัม/ปี
มีระยะการให้น้ำนมนานถึง 300 วัน
และหากนำโคนมพันธุ์ดังกล่าวไปเลี้ยงในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเย็น
โคจะตอบสนองต่อการกินอาหารและการให้น้ำนมที่สูงขึ้นถึง 15-18
กิโลกรัม/วัน หรือ 5,500-6,500 กิโลกรัม/ปี จึงนับได้ว่า โคมนมทนร้อน
KKU101 เป็นโคนมที่มีความสวยงาม ขนาดลำตัวเหมาะสม
เลี้ยงง่ายและให้น้ำนมในเกณฑ์ดี

"โคนมสายพันธุ์ปรับปรุงนี้ยังมีความสามารถผสมติดง่ายภายใต้สภาวะแวด
ล้อมที่มีความเครียดสูง ส่วนลักษณะของการให้น้ำนมนั้น
เดิมโคนมจะมีโครงสร้างเต้านมขนาดเล็ก รวมตัวเป็นกระจุกและรีดน้ำนมออกยาก
จึงทำให้ได้น้ำนมน้อยแค่ 4-5 กิโลกรัม/วัน และมีระยะให้น้ำนมสั้น
แต่ภายหลังปรับปรุงสายพันธุ์ โครงสร้างของเต้านมแข็งแรงขึ้น
มีขนาดหัวนมที่ใหญ่และยาวได้มาตรฐานกับชุดรีดนม
รีดนมออกง่ายและให้น้ำนมเฉลี่ยสูงขึ้น"

รศ.ดร.วิโรจน์
กล่าวย้อนกลับไปถึงช่วงเริ่มต้นปรับปรุงสายพันธุ์โคนมพันธุ์ทนร้อนว่า
ใช้ระบบการผสมข้ามสายพันธุ์
โดยดำเนินการที่สถานีทดลองและฝึกอบรมเกษตรกรรม จ.ร้อยเอ็ด
ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยเริ่มแรกนั้นได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ DANIDA (Danish
International Development Agency) ประเทศเดนมาร์ค
ให้ทุนในการจัดซื้อพันธุ์โคนมและอุปกรณ์ประจำฟาร์ม
โดยโคนมที่นำเข้ามารุ่นแรกเป็นโคนมผสมสายเลือดพันธุ์โฮนสไตน์ฟรีเชียน 75%
กับพันธุ์ซาฮิวาล 25% ซึ่งโคนมพันธุ์โฮนสไตน์ฟรีเชี่ยน
เป็นโคนมเขตหนาวแถบประเทศอเมริกาและยุโรป มีคุณสมบัติเลี้ยงง่าย
นิสัยเชื่อง ให้ปริมาณน้ำนมมาก ส่วนพันธุ์ซาฮิวาลจะเป็นโคนมพันธุ์เขตร้อน
มีแหล่งกำเนิดทางประเทศอินเดีย มีคุณสมบัติหากินเก่ง ทนร้อน ทนโรคแมลง
โดยเฉพาะเห็บโค แต่มีข้อด้อย คือ ให้ปริมาณน้ำนมน้อย และตื่นเต้นง่าย

สำหรับ โคมนมทนร้อน KKU101 นี้ เป็นลูกผสมรุ่นที่ 6
ซึ่งถือว่ามีความคงที่ของสายพันธุ์ในระดับถึง 98.2%
โดยจะสามารถถ่ายทอดลักษณะความเป็นโคนมทนร้อนที่แน่นอน ทั้งนี้
ลูกที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ มีสีขาวดำ น้ำหนักตัว 450-500
กิโลกรัม มีนิสัยเชื่อง ไม่ตื่นเต้นง่าย เลี้ยงง่าย
สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพการเลี้ยงในทุกแบบได้เป็นอย่างดี
โดยในฤดูร้อนจะทนร้อนได้ดี และสามารถออกเดินแทะเล็มหญ้า
กินกลางแสงแดดได้โดยไม่มีอาการหอบ หรือ น้ำลายไหลปรากฏให้เห็น

นอกจากนี้ โคสายพันธุ์ที่ปรับปรุงนี้ยังมีคุณลักษณะพิเศษ คือ
สามารถทนเห็บหรือทนต่อโรคเห็บ ซึ่งโรคนี้
นับเป็นโรคที่สำคัญอันดับหนึ่งของโคนมที่ให้ผลผลิตสูงที่มักตายได้ง่ายจาก
การระบาดของโรคเห็บที่ระบาดผ่านทางตัวเห็บที่มาเกาะกินเลือดจากตัวโค

รศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวอีกว่า
ในการพัฒนาสายพันธุ์ในขั้นต่อไปนั้นจะนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการปรับ
ปรุงและขยายสายพันธุ์โคนมนี้ให้มีความรวดเร็วขึ้น
เพราะมีพ่อแม่พันธุ์ที่เป็นต้นแบบที่ดีแล้ว เช่น
การคัดเลือกด้วยเครื่องหมายพันธุกรรม (Marker Assisted Selection : MAS)
เป็นต้น ส่วนการขยายพันธุ์เพื่อเผยแพร่สู่เกษตรกรนั้น
ในระยะสั้นจะใช้วิธีเทคโนโลยีการย้ายฝากตัวอ่อน ซึ่งมีความชำนาญอยู่แล้ว
จะสามารถเพิ่มจำนวนลูกโคพันธุ์ดีได้มากและรวดเร็ว


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000066222

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น